สถานการณ์ไฟป่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ล่าสุดจุดความร้อนสูงถึง 128 จุด ขณะที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกินมาตรฐานถึง 105 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าของเครื่องวัดจาก มช.CMU CCDC ที่โรงเรียนห้องสอนศึกษา ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน สูงถึง 252.10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 22 มี.ค.62 เวลา 07.00 น. กรมควบคุมมลพิษได้รายงาน คุณภาพอากาศ บริเวณ ต.จองคำ อ.เมือง จ. แม่ฮ่องสอน จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.จองคำ อ.เมือง จ. แม่ฮ่องสอน พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 105 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังพบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่า 121 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ข้อแนะนำด้านสุขภาพ ประชาชนทั่วไป: สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ กลุ่มเสี่ยง: ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง * ประชาชนกลุ่มเสี่ยง หมายถึง เด็ก คนชรา หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือด สำหรับ จุดความร้อนประจำวันพฤหัสบดี ที่21 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา จากดาวเทียมระบบเวียร์ (viirs) เวลา 13.12 น. พบจุดความร้อน 128 จุด ได้แก่ อ.แม่สะเรียง 30 จุด, อ.แม่ลาน้อย 18 จุด, อ.ขุนยวม 10 จุด อ.เมือง 40 จุด, อ.ปางมะผ้า 15 จุด และ อ.ปาย 15 จุด เมื่อเวลา 20.16 น. ที่ผ่านมา นางสุจิตรา วิทยาการยุทธกุล ผญบ.บ้านชานเมือง หมู่ 12 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ได้ร้องขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยดับไฟป่าในพื้นที่ตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังพบเหตุไฟป่า บริเวณทางทิศตะวันออก ของหมู่บ้าน พบเห็นไฟป่าเกิดขึ้นหนึ่งจุดพื้นที่เป็นยอดเขาสูงชันและเป็นหน้าผาต้องใช้เวลาเดินเท้าเข้าไปประมาณสองชั่วโมง โดยทาง ผญบ.บ้านชานเมืองได้จัดกำลัง ชรบ.และราษฎรจิตอาสาจำนวน 20 คนขึ้นไปทำการดับไฟป่า ต่อมา ทางหน่วยควบคุมไฟป่าแม่ฮ่องสอน ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ดับไฟป่ามาสมทบอีก 7 นาย ร่วมทำการดับไฟป่า ล่าสุดใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง จึงสามารถดับไฟป่าได้อย่างเด็ดขาด สำหรับไฟป่าที่บ้านชานเมือง เป็นจุดไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ได้มากที่สุดเนื่องจากอยู่ติดตัวเมืองและตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก โดยบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ไปจนถึง บ้านหัวน้ำ ได้เกิดไฟป่า ต่อเนื่องมานับสัปดาห์ ส่งผลให้ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน สูงเกินค่ามาตรฐานทันที อย่างไรก็ตามในเรื่องปัญหาไฟป่า แหล่งข่าว เจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานหนึ่งในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนระบุ ว่า ไม่ต้องแปลกใจที่ไฟป่าในแม่ฮ่องสอนถึงรุนแรงต่อเนื่องทุกปี สาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ คิดแต่งานดับไฟป่า มากกว่าการป้องกันในพื้นที่ไม่ให้มีการเกิดไฟป่า และมีการของบประมาณเพิ่มทุกปี ยกตัวอย่าง ปี พ.ศ.2560 งบประมาณในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันไฟป่า ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวน 57 ล้านบาท และได้รับอุดหนุนมาจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกจำนวน 8.6 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 65.6 ล้านบาท ซึ่งได้จ่ายให้แก่หมู่บ้าน จำนวน 402 หมู่บ้านทั้งจังหวัด ฯ ( ในขณะนั้น ปัจจุบันมี 405 หมู่บ้าน ) โดยจังหวัดจ่ายให้หมู่บ้านละ 6,500 บาท ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ่ายหมู่บ้านละ 21,600 บาท หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจะได้รับเงินทั้งสิ้น 28,100 บาท รวมงบประมาณที่จ่ายให้หมู่บ้านเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า เป็นเงินทั้งหมด จำนวน 11,296,200 บาท คิดเป็นร้อยละ 7.41 ของงบประมาณในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันไฟป่าทั้งหมด ประกอบกับ ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละหมู่บ้าน กรณีบางหมู่บ้าน งบประมาณไม่ได้ตกถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง และ ชาวบ้านต่างก็รับทราบข้อมูล ทำให้ชาวบ้านน้อยใจไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เท่าที่ควร อีกทั้งการประกาศจะจับกุมผู้เผาป่า ซึ่งปีไหนที่ ผวจ.ประกาศจะจับกุมคนเผาป่า โดยบังคับใช้กฎหมายกับราษฎร พบว่าไฟป่าจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทันที นอกจากนั้น การจำกัดสิทธิของราษฎรในการเข้าไปหาของป่า ไม่ว่าจะเป็นการตรวจค้น การขึ้นบัญชีผู้ล่าสัตว์ป่า หรือหาของป่า ยิ่งส่งผลให้เกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐโดยปริยายและการต่อต้านดังกล่าว ส่งผลให้ราษฎรไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาไฟป่า ทำให้เกิดไฟป่า จำนวนมากในแทบทุกพื้นที่