ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง, สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่แห่งเมืองสุพรรณบุรี
แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามโบราณราชประเพณี ที่ใช้ในพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่อดีตสืบต่อกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่แห่งเมืองสุพรรณบุรี ประกอบด้วย สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ เป็นสระน้ำโบราณอยู่ในปริมณฑลเดียวกัน ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเสด็จ ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ใกล้กับลำน้ำท่าว้า ลำน้ำสายเก่าของแม่น้ำสุพรรณบุรี
สถานที่สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่นี้มีเรื่องราวและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ จากข้อมูลเอกสาร "สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่แห่งเมืองสุพรรณบุรี" อรุณศักดิ์ กิ่งมณี สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร ให้รายละเอียดไว้ ในที่นี้นำมากล่าวสังเขป
สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่นี้ใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีเอกสารจดหมายเหตุระบุเอาไว้ชัดเจน ขั้นตอนทั่วไปในการนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ จะมีการทำพิธีพลีกรรมตักน้ำ แล้วจึงประกอบพิธีเสกน้ำด้วยพระพุทธมนต์หรือเทพมนต์เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ก่อนที่จะนำไปผสมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์แหล่งอื่นเพื่อนำไปเข้าใช้ในพระราชพิธีมงคลต่างๆ หรือรัฐพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีมหาอุปราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา อย่างไรก็ตามมีหลักฐานจดหมายเหตุบางฉบับ กล่าวถึงการนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสระทั้งสี่นำไปใช้ในพระราชประสงค์อื่น อาทิ รัชกาลที่ 4 ใช้ในพระราชพิธีสมโภชพระบาง และใช้เป็นน้ำเสวย, สมัยรัชกาลที่ 5 ใช้ในพระราชพิธีตรุศสารท
ภาพ บูรพา โชติช่วง
ในจดหมายเหตุครั้งรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2407 ให้รายละเอียดขั้นตอนในการพลีกรรมตักน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ เมื่อจะกระทำพิธีตักน้ำ ได้ให้หมอยอดสี่กรมช้าง และขุนพิไชยฤกษ์โหร เชิญท้องตราออกมายังพญาสุพันและกรมการ โดยให้จัดการปลูกศาลที่สระๆ ละศาล และจัดบายศรี 4 สำรับ ศีรษะสุกร 4 ศีรษะ เครื่องกระยาบวช และให้จัดผ้าขาว เพื่อให้โหรนุ่งห่ม จากนั้นเมื่อถึงวันที่กำหนดก็ให้พญาสุพันและกรมการพร้อมกับหมอยอดสี่ และขุนพิไชยฤกษ์ออกไปที่สระเพื่อตั้งการบวงสรวง เมื่อโหรบอกฤกษ์แล้วให้ยิงปืนเป็นสัญญาน จึงตักน้ำจากสระทั้งสี่ที่ใสสะอาดดี ใช้ผ้าขาวกรองอย่าให้มีผง นำน้ำใส่ในกระถาง เอาผ้าขาวปิดปากกระถางแล้วเอาเชือกผูกประทับตราให้มั่นคง และมอบให้หมอยอดสี่กับขุนพิไชยฤกษ์ นำเข้าไปยังกรุงเทพโดยเร็ว
ภาพ บูรพา โชติช่วง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2451 ในครั้งนั้นทรงมีพระราชหัตถเลขาเรื่องเกี่ยวกับสระศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เนื้อความตอนหนึ่ง
“...ที่สระนั้นมีสัญฐานต่างๆ อยู่อย่างไม่เปนระเบียบ ตรงทางที่ขึ้นไปถึงสระคาก่อน สระยมนาอยู่ข้างเหนือ สระแก้วอยู่ตวันตกเกือบจะตรงกับสระคา สระเกษอยู่ข้างใต้แนวเดียวกับสระแก้ว แลเห็นปรากฏว่าเปนสระที่ขุด มีเจดีย์ซึ่งว่ามีพรรูปหนึ่ง ไล่เลียงเอาชื่อไม่ได้ ไปก่อเสริมฐานของเก่า ที่สระคาแห่งหนึ่ง สระยมนาแห่งหนึ่ง ที่สระแก้วเปนศาลเจ้า ที่ซึ่งสำหรับบวงสรวงก่อนตักน้ำสรง แต่ที่สระเกษนั้นมีคันดินสูงยาวไปมาก ที่บนนั้นมีรากก่อพื้นดินสูงจะเปนเจดีย์ฤามณฑป ซึ่งถูกแก้แต่ไม่สำเร็จ สงไสยว่าที่เหล่านี้น่าจะเปนเทวสถานมิใช่วัด สระที่ขุดไว้เหล่านี้เปนสระสำหรับพราหมณ์ลงชุบน้ำ ให้ผ้าเปียกเสียก่อนที่จะเข้าไปมัสการตามลัทธิสาศนาพราหมณ์ จึงจะได้เปนสระที่ศักดิ์สิทธิ์ คันดินที่กล่าวนี้ว่ามียาวไปมาก น่าจะเปนถนนถึงเมืองเก่า ที่นี่น่าจะเปนเทวสถานฤาวัดพราหมณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งมาแต่สุพรรณเก่า จึงได้ใช้น้ำนี้เปนน้ำอภิเษกสืบมาแต่โบราณ ก่อนพรพุทธสาศนามาประดิษฐานในประเทศแถบนี้ มีเรื่องที่เกี่ยวถึงหลายเรื่อง เช่นพรเจ้าประทุมสุริวงษ์ เปนเจ้าที่เกิดในดอกบัว ฤามาแต่ประเทศอินเดีย อันเปนเจ้าแผ่นดินที่ ๑ ฤาที่ ๒ ในวงษ์พรอินทร์ที่ครองกรุงอินทปัถพรนครหลวงเจ้าของพรนครวัด ก่อนพุทธสาศนากาลจะราชาภิเศกต้องให้มาตักน้ำสี่สระนี้ไป แลในการพรราชาพิธีอภิเศกต่างๆ ต้องใช้น้ำสี่สระนี้ พรเจ้าสินธพอมรินทรพรยาแกรกราชาภิเศก กรุงละโว้ ประมาณ ๑๔๐๐ ปีก็ว่าใช้น้ำสี่สระนี้ราชาภิเศก พรเจ้าอรุณมหาราชกรุงศุโขทัยจะทำการราชาภิเศกก็ต้องลงมาตีเมืองเหล่านี้ให้อยู่ในอำนาจ แล้วจึงตักน้ำไปราชาภิเศก จึงเปนธรรมเนียมเจ้าแผ่นดินสยาม ทุกพระองค์สรงมุรธาภิเศกแรกเสวยราชแลตลอดมาด้วยน้ำสี่สระนี้ มีเลขประจำเฝ้าสระรักษาอย่างกวดขัน เพราะเหตุที่มีเจ้าแผ่นดินเมืองใกล้เคียงมาลักตักน้ำไปกระทำอภิเษก จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ พรเจ้ากาวิโลรส เปนพรเจ้าขึ้นใหม่ๆ ได้ให้มาลักน้ำสี่สระนี้ขึ้นไปทำอภิเศกเปนข้อหนึ่งในคำที่ต้องหาว่าเปนขบถ...”
ภาพ บูรพา โชติช่วง
ภาพ กรมศิลปากร
สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่นี้ยังมีนิทานเชิงตำนานเรื่องเล่าของชาวบ้าน ครั้งหนึ่งมีเจ้าเมืองผู้ครองนครองค์หนึ่ง มีธิดา 4 องค์ ชื่อ แก้ว คา ยมนา และ เกต เจ้าเมืองคิดจะยกเมืองให้กับลูกเขยครองแทน โดยตั้งกติกาให้พระธิดาช่วยกันขุดสระให้เสร็จภายใน 7 วัน ผู้ใดขุดสระได้ใหญ่ที่สุด จะให้สวามีของธิดาองค์นั้นเป็นเจ้าเมืองแทน ภายหลังธิดาเกตมีลิงเผือกช่วยขุดสระใหญ่กว่าคู่อื่น จึงได้ราชสมบัติ ตำนานนี้คงแต่งขึ้นโดยคนรุ่นหลัง ซึ่งเรื่องเล่าประเภทนี้ถือเป็นขนบ พบอยู่เสมอสังคมไทยอดีต เพื่อแสดงให้เห็นถึงมูลเหตุแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของบริเวณพื้นที่ต่างๆ นั่นเอง
ขนาดของสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ในปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงไปจากผังที่เคยมีการบันทึกแต่เดิม อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากได้ขุดลอกสระดังกล่าวหลายครั้ง โดยสระทั้งสี่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สระเกษมีขนาดใหญ่ที่สุด กว้าง 76 เมตร ยาว 144 เมตร นอกจากนี้มีสระขนาดเล็กอีก 2 สระ ตั้งอยู่ระหว่างสระยมนาและสระเกษ บางท่านเรียกว่า สระอมฤต 1 และ 2 น่าจะเป็นสระที่ขุดขึ้นใหม่ในระยะหลัง มิได้มีความสัมพันธ์กับสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่แต่อย่างใด
สำหรับสถานที่ประกอบพิธีเสกน้ำ พระวรวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี