กรมปศุสัตว์ ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่าตระหนก ASF ไม่ติดต่อคน เผยเวียดนาม เป็นต้นแบบคุมเข้มการเผยแพร่ภาพหมูไม่ให้กระทบสังคมวงกว้าง เมื่อวันที่ 21 มี.ค.62 น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ว่าประเทศไทยไม่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ และย้ำว่า ASF เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ไม่ติดต่อหรือเป็นอันตรายต่อคนหรือสัตว์อื่น ผู้บริโภคสามารถรับประทานหมูได้อย่างปลอดภัย 100% ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าคุมเข้มเรื่องการป้องกันโรคอย่างเต็มกำลัง ล่าสุดได้ร่วมประชุมหารือร่วมกับองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และผู้บริหารระดับสูงของกรมปศุสัตว์จาก 5 ประเทศ ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม (CLMV) และไทย เพื่อยกระดับแนวทางมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรค ASF ระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้โรค ASF สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในภูมิภาคนี้ และเศรษฐกิจของทุกประเทศ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศครั้งสำคัญ “ขณะนี้ทั้งไทยและประเทศเพื่อน กำลังร่วมมือกันบูรณาการเรื่อง ASF อย่างเข้มแข็ง ส่วนในเวียดนามที่พบการระบาดของ ASF ก็เร่งเดินหน้ามาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ควบคู่ไปกับการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องของโรคนี้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประกาศของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท เวียดนาม เพื่อให้กรมข้อมูลและการสื่อสาร ขอความร่วมมือกับสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูล รวมถึงวิธีการปกป้องโรคนี้ และห้ามไม่ให้เผยแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสม ที่จะสร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้บริโภคในวงกว้าง ซึ่งถือเป็นต้นแบบในความใส่ใจที่ภาครัฐและสื่อมวลชนมีต่อประชาชนและเกษตรกร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับการบริโภคจากภาพที่ได้สื่อออกไป” น.สพ.สรวิศ กล่าว อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขอความร่วมมือจากผู้บริโภค เกษตรกร นักท่องเที่ยว และประชาชน ช่วยกันสนับสนุนมาตรการป้องกันโรค ASF เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ของโรคนี้ ดังเช่นหลายประเทศที่สามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity ในระดับสูง ตลอดจนขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการเลือกใช้ภาพสำหรับการสื่อสารที่เหมาะสม ที่สำคัญคือ ขอให้ประชาชนอย่าส่งต่อภาพหรือข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคสังคมวงกว้าง