สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ระบุเมื่อวันที่ 20 มี.ค.62 เวลาประมาณ 00.24 น. ตามเวลาประเทศไทย องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ นาซา ได้แถลงข่าว ยานโอไซริส-เร็กซ์ ค้นพบว่า ดาวเคราะห์น้อยเบนนูพ่นอนุภาคออกจากพื้นผิวสู่อวกาศ และภาพถ่ายความละเอียดสูงยังแสดงให้เห็นสภาพพื้นผิวขรุขระ ซึ่งต่างจากที่คาดการณ์ไว้มาก สร้างความท้าทายแก่ยานในการร่อนลงสัมผัสพื้นผิวเพื่อเก็บตัวอย่าง
ยานโอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-REx) เป็นยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยของ นาซา ถูกส่งไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) ตั้งแต่เดือนก.ย.59 วัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาและเก็บตัวอย่างหินบนดาวเคราะห์น้อย และจะกลับมายังโลกภายในปี พ.ศ. 2566
#ดาวเคราะห์น้อยเบนนู เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภท C (C-type, carbonaceous asteroid) คือ ดาวเคราะห์น้อยที่มีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 492 เมตร มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ระหว่างโลกและดาวอังคาร ก่อนหน้านี้ยานโอไซริส-เร็กซ์ได้ค้นพบว่าดาวเคราะห์น้อยเบนนูมีแร่ธาตุบางชนิดที่บ่งชี้ว่าบนพื้นผิวเคยมีน้ำอยู่
แต่...ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดเล็กเกินกว่าที่น้ำจะคงอยู่ได้ในสภาวะของเหลว นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่า ในอดีตดาวเคราะห์น้อยเบนนูอาจเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เป็นอยู่
ล่าสุด !! การค้นพบอนุภาคที่พ่นออกมาจากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยเบนนูสร้างความประหลาดใจแก่นักวิทยาศาสตร์อย่างมาก ขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังเร่งหาสาเหตุที่แท้จริง ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นอันตรายต่อยานสำรวจแต่อย่างใด
จากการวิเคราะห์พื้นผิวโดยรอบ พบว่าเต็มไปด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ ทำให้ยานต้องปรับเปลี่ยนแผนการลงสัมผัสพื้นผิวเพื่อเก็บตัวอย่าง ซึ่งจะต้องอาศัยความแม่นยำที่มากขึ้นอีกด้วย
ยานโอไซริส-เร็กซ์ยังค้นพบอีกว่า คาบการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์น้อยมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ เรียกว่า “Yarkovsky-O'Keefe-Radzievskii-Paddack effect (YORP)” ทำให้ทุก ๆ 100 ปี ดาวเคราะห์น้อยจะมีคาบการหมุนรอบตัวเองลดลงประมาณ 1 วินาที
ดาวเคราะห์น้อยทุกดวงก่อตัวขึ้นมาพร้อมกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ แต่เนื่องจากมีขนาดที่เล็กและไม่มีชั้นบรรยากาศ ทำให้ลักษณะภายนอกแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ระบบสุริยะก่อตัว การศึกษาวัตถุประเภทนี้จึงเปรียบได้กับการศึกษาวัตถุโบราณที่ปราศจากสิ่งเจือปน ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการไขความลับการกำเนิดระบบสุริยะ
อ้างอิง :
[1] https://www.nasa.gov/…/nasa-mission-reveals-asteroid-has-bi…
[2] https://www.nasa.gov/…/nasa-s-newly-arrived-osiris-rex-spac…
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.