นักโบราณคดีไทย-เทศร่วมกันเปิดข้อมูลความรู้ใหม่แหล่งโบราณคีดลุ่มแม่น้ำลพบุรี ประมาณ 3,800 - 1,000 ปีมาแล้ว พบแหล่งโบราณคดีกระจายตัวอยู่กว่า 116 แหล่ง แสดงถึงความหนาแน่นของชุมชนโบราณ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงนิทรรศการฯ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี เปิดอย่างทางการไปเมื่อสองวันก่อนกับนิทรรศการความรู้ใหม่จากการศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำลพบุรี (New Knowledge from Archaeological Sites in the Lop Buri River Basin) นำเสนอผลจากการดำเนินงานด้านโบราณคดีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำลพบุรีตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ผลงานของนักโบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างชาติ อาทิ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการโบราณคดีโลหะวิทยาในประเทศไทย (Thailand Archaeometallurgy Project: TAP) สถาบัน Istituto Italiano per il Medio ed Estremo Oriente: IsMEO ประเทศอิตาลี ภายใต้โครงการโบราณคดีพื้นที่ลพบุรี (Lopburi Regional Archaeology Project: LoRAP) และเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการพิเศษ “150 ปี แห่งความสัมพันธ์ ไทย –อิตาลี” สำหรับนิทรรศการได้รวบรวมผลการดำเนินงานและโบราณวัตถุที่ได้จากการทำงานโบราณคดีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำลพบุรี จนได้เป็นข้อมูลความรู้ใหม่ที่จะเผยภาพพัฒนาการของผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำลพบุรีเมื่อประมาณ 3,800 - 1,000 ปีมาแล้ว โดยพบว่ามีแหล่งโบราณคดีกระจายตัวอยู่กว่า 116 แหล่ง แสดงถึงความหนาแน่นของชุมชน ศักยภาพความสมบูรณ์ทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและธรณีวิทยาในลุ่มแม่น้ำลพบุรีได้เป็นอย่างดี ตัวนิทรรศการยังแสดงผ่านการเล่าเรื่องราวการทำงานของนักโบราณคดี เพื่อไขปริศนาข้อสงสัยของประชาชน จากหลักฐานที่พบ สามารถให้ความกระจ่างชัดจนเป็นข้อมูลวิชาการทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ ในขณะเดียวกันยังแสดงถึงความสมบูรณ์เชิงพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีสำคัญ เช่น แหล่งโบราณคดีท่าแค อ.เมือง แหล่งโบราณคดีเนินดิน – เขาทรายอ่อน อ.เมือง แหล่งโบราณคดีพุน้อย อ.บ้านหมี่ และแหล่งโบราณคดีโนนป่าหวาย อ.โคกสำโรง ผลจากการศึกษาวิจัยในลุ่มแม่น้ำนี้ โดยแบ่งเป็น 6 หัวข้อ คือ 1.พืช สัตว์ และสภาพแวดล้อม 2.ความงามและรื่นรมย์ในชีวิต 3.งานสร้างสรรค์เครื่องใช้ไม้สอย 4. ความเชื่อและความตาย 5.แหล่งผลิตโลหะระดับภูมิภาค 6.ความเชื่อมโยงกับบ้านเมืองทั่วเอเชีย โบราณวัตถุทั้งหมดจะร้อยเป็นเรื่องราวแสดงพัฒนาการว่าชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณลุ่มแม่น้ำลพบุรีเป็นแหล่งบ่มเพาะและก่อให้เกิดรากฐานทางวัฒนธรรม จนสามารถพัฒนามาสู่บ้านเมืองในยุคปัจจุบัน โดยองค์ความรู้ทางโบราณคดีที่ผ่านการสั่งสมมาอย่างยาวนานเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งในแวดวงวิชาการ การท่องเที่ยว นำเสนอเผยแพร่แก่สาธารณชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าความสำคัญของหลักฐานทางวัฒนธรรมที่บรรพชนได้สร้างไว้และร่วมกันรักษามรดกอันทรงค่าเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ชาวลพบุรีและผู้สนใจทั่วไปแวะไปชมนิทรรศการความรู้ใหม่จากการศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำลพบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ – อาทิตย์ เวลา 09.00 - 16.00 น. ตึกพระประเทียบ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี