ปลัดกทม.ตรวจหน่วยเลือกตั้งที่บางกะปิ จุดรร.บ้านบางกะปิ คนยื่นใช้สิทธิมากที่สุดกว่า 6 หมื่นคน บัตรประชาชนหมดอายุก็ใช้สิทธิได้ ระบุขั้นตอนไม่ได้แตกต่างจากที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 17 มี.ค.62 เวลา 07.30 น. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกทม.ได้ตรวจเยี่ยมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง ณ บริเวณโรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ เขตบางกะปิ ซึ่งบรรยากาศคึกคักประชาชนจำนวนมากทยอยเดินทางมาตั้งแต่เวลา 06.00 น. เพื่อลงทะเบียนรอใช้สิทธิเลือกตั้งในเวลา 08.00 น. โดยเขตบางกะปิเป็นเขตที่มีผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามากที่สุด จำนวน 61,401 คน เจ้าหน้าที่ได้เตรียมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้สิทธิ โดยแยกเป็นภาค กทม. ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และประชาชนเริ่มเข้าแถวรอใช้สิทธิตั้งแต่ 07.20 น. จากนั้นปลัดกทม.จะตรวจเยี่ยมการลงคะแนนเลือกตั้งที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานครไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) และในช่วงบ่ายตรวจเยี่ยมการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง    ณ บริเวณโรงพยาบาลทหารผ่านศึก (หน่วยเลือกตั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ) ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้าทั้งในและนอกเขตเลือกตั้ง ในวันที่ 17 มี.ค.62 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้สนับสนุนการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครให้เป็นไปโดยเรียบร้อย โปร่งใส และเป็นธรรม  สำหรับในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 4,489,390 คน มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง 928,789 คน และมีผู้มาลงทะเบียนขอใช้สิทธิลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 932 คน โดยเขตที่มีผู้มาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ามากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ เขตบางกะปิ 61,401 คน  เขตบางขุนเทียน 42,508 คน และเขตห้วยขวาง 40,816 คน  ส่วนจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิที่เลือกกลางสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ มีจำนวน 257 คน ทั้งนี้ ปลัดกทม.ได้เชิญชวนให้ประชาชนเดินทางมาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อมาใช้สิทธิได้อย่างสะดวก และไม่เกิดความหนาแน่นในหน่วยเลือกตั้ง  และเพื่อไม่ให้พลาดสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าตามที่ตั้งใจลงทะเบียนขอใช้สิทธิไว้  ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อที่ติดไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง ณ สถานที่เลือกตั้งกลาง หรือจากหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน หรือจากแอปพลิเคชัน Smart Vote  หรือที่เว็บไซต์ https://election.bora.dopa.go.th/Election/cervote/ ได้ อย่างไรก็ตาม บัตรประชาชนหมดอายุสามารถนำมาแสดงตนใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก ซึ่งพอสรุปเป็นลำดับขั้นได้ ดังนี้  1. เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเดินทางไปถึงบริเวณสถานที่เลือกตั้งขอให้ตรวจสอบบัญชีรายชื่อและจดจำลำดับที่ของตนในบัญชีรายชื่อฯ ไว้ 2. ยื่นหลักฐานแสดงตนต่อเจ้าพนักงานเลือกตั้ง เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรฯ หมดอายุก็ใช้ได้) หรือบัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ โดยต้องมีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน อาทิ บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ และหนังสือเดินทาง(พาสปอร์ต) 3. รับบัตรเลือกตั้ง  โดยลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งพร้อมรับบัตรเลือกตั้ง  4. ทำเครื่องหมายกากบาท เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท ( X ) เลือกผู้สมัครเพียงหมายเลขเดียว หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใดให้ทำเครื่องหมาย กากบาท ( X ) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด และเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใสและเป็นธรรม กทม.ได้อบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องก่อนการเลือกตั้ง ทั้ง 30 เขตเลือกตั้ง รวมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานตามแนวทางที่ กกต.กำหนด  สำหรับประชาชนนั้นในระหว่างการใช้สิทธิเลือกตั้งขอให้ระมัดระวังอย่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง อาทิ ไม่กระทำการใดๆที่อาจทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุด ฉีกขาด หรือทำให้เป็นบัตรเสีย ไม่ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆถ่ายภาพบัตรเลือกตั้ง รวมถึงไม่นำบัตรเลือกตั้งออกไปจากสถานที่เลือกตั้งด้วย  ภาพ-ข่าว:นารีนาฏ ภัยวิมุติ