คนข้างวัด/อุทัย บุญเย็น
ใกล้จะถึงวันเลือกตั้ง (ส.ส.) ใหญ่ 24 มี.ค.2562 ขอเขียนแนะนำพรรคการเมืองเล็กๆ 2 พรรค ซึ่งตัวเองรู้จักพอสมควร คือ
"พรรคพลังท้องถิ่นไท (พทถท.)"
บุคคลที่เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี คือ 1) นายชัชวาลล์ คงอุดม ("ชัช เตาปูน") 2) ศาสตราจารย์โกวิทย์ พวงงาม
นโยบายของพรรคท้องถิ่นไท คือ
"นำเสนอเทคโนโลยีเพื่อประชาธิปไตย อำนาจจะอยู่ในมือ (ถือ) ของประชาชนตลอดไป (ประชาชนมีส่วนร่วมได้ในทุกการตัดสินใจและเป็นผู้ลงประชามติปีละหลายครั้ง ไม่มีนายทุนชี้นำเบื้องหลัง เป็นจิตอาสาจากหลากหลายอาชีพ เสียสละเข้ามาร่วมงาน ก้าวข้ามความขัดแย้ง พัฒนาอย่างสร้างสรรค์ เน้นแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน มุ่งสร้างความเที่ยงธรรมในสังคมและส่งเสริมการมีส่วนร่วม/รับฟัง/กระจายอำนาจ จะทำงานต่อเนื่องช่วยเหลือประชาชนผ่านศูนย์ร้องเรียน ที่จะช่วยให้คำปรึกษาด้านกฎหมายด้วยเครือข่ายจิตอาสา จะสอบถามความเห็นสมาชิก/ประชาชนก่อนเข้าไปอภิปราย/ออกเสียงในสภา ประชาชนทุกคนเป็นนักการเมืองได้"
ทราบว่า นายชื่นชอบ คงอุดม เป็นโฆษกพรรค และนายรัฐภูมิ โตคะทรัพย์ เป็นรองโฆษกพรรค "นางพิมพ์อร คงอุดม (เบอร์ 12)" เป็นผู้สมัครในเขต 7 บางซื่อ,ดุสิต (เฉพาะแขวงถนนนครไชยศรี)
อีกพรรคหนึ่ง ที่ขอแนะนำ คือ
"พรรคแผ่นดินธรรม (ผธ.)"
บุคคลที่เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี คือ ศาสตราจารย์พิเศษร.ท.บรรจบ บรรณรุจิ 2)นายกรณ์ มีดี
นโยบายของพรรคแผ่นดินธรรม คือ
"1.(จัดตั้ง) ธนาคารพุทธ ธนาคารเพื่อชาวพุทธ 2.บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ(ในรัฐธรรมนูญ) 3.เพิ่มวิชาสมาธิภาวนาเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนทุกระดับ 4.ยกเลิกกองทุนน้ำมันดีเซลและลดราคาน้ำมันทุกชนิด 5. (ให้มี) หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย 6.ตั้งกระทรวงชาวนาและกระทรวงยางพารา 7.แก้กฎหมายความเร็วรถให้เหมาะกับสภาพรถและถนนในปัจจุบ 8.พักใช้ข้อมูลเครดิตบูโร 1 ปี 9.(ตั้ง)นิคมไทยพุทธ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 10.ให้โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาเป็นโรงเรียนของรัฐ"
ทราบว่า ผู้ก่อตั้งพรรคแผ่นดินธรรมเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ (มจร.-มมร.)
"ศาสตราจารย์พิเศษ ร.ท.บรรจบ บรรณรุจิ" นั้น จบปริญญาเอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอบได้ ป.ธ.9 ตั้งแต่เป็นสามเณร(เป็นนาคหลวง) เป็นอดีตอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเลือกตั้งใหญ่ (วันอาทิตย์) 24 มี.ค.2562 นี้ เริ่มเวลา 08.00น.ถึง17.00น. (5โมงเย็น) ใช้บัตรใบเดียว เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตได้หมายเลขเดียว
ในการแสดงตนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้แสดงหลักฐาน คือ "บัตรประจำตัวประชาชน" (บัตรหมดอายุก็ใช้ได้) หรือ "บัตร/หลักฐานอื่นใดของทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร"
ได้รับแจ้งจากเพื่อนทางไลน์ ว่า
เลือกตั้งครั้งนี้ ระวังอย่าถ่ายรูป (เซลฟี่) บัตรเลือกตั้ง (มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท เบอร์ผู้สมัคร แต่ละเขตแยกเบอร์ (ไม่ใช่เบอร์เดียวกัน) กาเบอร์เดียวได้ทั้ง ส.ส./พรรค/นายก ตามรัฐธรรมนูญใหม่ (พ.ศ.2560) มี ส.ส. 500 คน 350เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์)150 คน นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส
ห้ามผู้สมัคร ส.ส. ใส่ซองงานบุญตามประเพณี (ห้ามซื้อสิทธิขายเสียง)
ถ้าฉีกบัตรเลือกตั้ง จะมีโทษติดคุกและถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
พบเห็นการทุจริตเลือกให้แจ้ง "ส่ายด่วน กกต. 1444
นอกจากนั้น ก็ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องข้อห้ามกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ดังนี้ หรือออกเสียงลงคะแนนโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นที่มิได้มีไว้สำหรับตนเองหรือปลอมแปลงขึ้น
-ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง
-ห้ามมิให้ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง
-ห้ามมิให้ผู้มีสิทธเลือกตั้งใช้เครื่องมืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว
-ห้ามมิให้ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อออกเสียงลงคะแนนโดยผิดไปจากความจริงหรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง
-ห้ามมิให้ผู้มิสิทธิเลือกตั้งนำบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนได้ลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
-ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมารถใช้ลัทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง หรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่จะออกเสียงลงคะแนนได้
ประการสุดท้ายคือ
ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน
ขั้นตอนการออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้ง ส.ส. มีดังนี้
ให้ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ถ้ามีหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังเจ้าบ้าน (ส.ส. 1/6 ให้นำไปด้วย)
ต่อจากนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง
จากนั้น รับบัตรเลือกตั้ง
แล้วทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทำเครื่องหมายของหมายเลขผู้สมัครเป็นส.ส.ในบัตรเลือกตั้ง
ในกรณีไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่อง "ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด"
เมื่อลงคะแนน นับบัตรเลือกตั้งแล้ว หย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง
การแจ้งเบาะแสหรือเหตุทุจริตเลือกตั้ง แจ้งได้ที่ สายด่วน กกต. 1444 ดังกล่าวแล้ว
ได้อ่าน "นโยบาย" ของพรรคการเมืองต่างๆ (ทุกพรรค) แล้วเห็นมีพรรคเล็กๆ พรรคเดียวที่มีนโยบาย "บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ"
ซึ่งยังห่างไกลจากความเป็นไปได้ยิ่งนัก
ทั้งๆ ที่ประเทศไทย ประชาชนไทยนับถือพระพุทธศาสนากว่า 90 เปอร์เซ็นต์
ที่เป็นดังนี้ เพราะเราถือว่า ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัยอยู่แล้ว ถ้ามีการบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ในรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ
เคยตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศขนาดเล็กอย่างไทยมีความอ่อนไหวในเรื่องศาสนามากอยู่ ต่างกับประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา อินเดีย และจีน ความเคลื่อนไหวด้านศาสนาแทบจะไม่มีผลอะไรเลย
หลายประเทศขนาดเล็ก จึงมีการคุ้มครองศาสนา (ของตน) ด้วยกฎหมายตามสมควร
มีความรู้สึกว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยกำลังขาดการ "คุ้มครอง" ด้วยความประมาทของชาวพุทธเอง มีการแทรกซึมทางศาสนาอยู่เงียบๆ โดยอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งปัจจุบัน "การเมือง" เป็นช่องทางให้มีการบัญญัติกฎหมายเอื้อให้บางศาสนา คิดการใหญ่อย่างน่าเป็นห่วง
จึงมีผู้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยมีทั้งคุณและโทษ เกรงว่าประชาธิปไตยจะเร่งวันเร่งคืนให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอยเร็วขึ้น
อยากให้ระบอบประชาธิปไตยไม่พาประเทศตกอยู่ในความประมาทจนเกินไป
ทำอย่างไร ศาสนาจึงจะอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ไม่รุกรานซึ่งกันและกัน