เริ่มแล้วสำหรับสถานะการณ์การเลือกตั้งของประเทศไทย แม้จะไม่เป็นทางการทั้งการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 และการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ในวันที่ 17 มีนาคม 2562 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่จะ“ชี้เป็น-ชี้ตาย”ประเทศ ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งอยู่ในกำมือของประชาชนคนไทยทั่วประเทศที่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงกว่า51 ล้านคน ซึ่งต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้มีการแข่งขันของพรรคการเมืองกันอย่างดุเดือด รวมถึงการจับตามองทุกฝีก้าวของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่ใครทำผิดกติกาโดนฟันไม่เลี้ยง มีตัวอย่างให้เห็นกับ “พรรคไทยรักษาชาติ”(ทษช.) ที่ตอนนี้กลายเป็นอดีตพรรคการเมือง ,คณะกรรมการบริการพรรคทษช.โดนตัดสินทางการเมือง 10ปี และสมาชิกพรรคทษช.ไม่สามารถหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดได้ทันเวลาตามกำหนด กลายเป็นอดีตผู้สมัคร แต่สามารถลงรับสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ ขณะที่อีกพรรคที่ต้องจับตามองว่าจะมีจุดจบลงเอยเช่นเดียวกับพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ คือ “พรรคอนาคตใหม่” ที่ทาง “ศุภศักดิ์ ศรีอินทร์” อ้างตัวเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ยื่นคำร้องต่อกกต.ขอให้ดำเนินคดีกับ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และพรรคอนาคตใหม่ กรณีไปปราศรัยหาเสียงในลักษณะต้องการให้มวลชน มาสมัครเป็นสมาชิกพรรค 90,000 คนโดยอ้างว่า เพื่อมาตรวจสอบการทุจริตในการเลือกตั้งส.ส.วันที่ 24 มี.ค. ทั้งที่จุดประสงค์ดังกล่าว คือต้องการให้มวลชนดังกล่าวช่วยทำหน้าที่ตอบโต้ข่าวแทนพรรคอนาคตใหม่ และมีเจตนาแอบแฝงเพื่อให้คนทั้งหมดเป็นหัวคะแนนให้กับพรรค รวมถึงกรณีที่นายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ได้ใช้วิธีการพูดใส่ร้ายบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าชาวบ้านไม่ต้องการให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กลับมามีอำนาจ และยังกล่าวหาพล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงพรรคการเมืองที่สนับสนุนว่า หากกลับมาได้ก็ต้องมีการโกงทุจริตการเลือกตั้ง จึงเห็นว่าการกระทำของธนาธร และพรรคอนาคตใหม่มีความผิด ตามมาตรา 73 ( 5) ของพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส 2562 และสถานะการณ์ความร้อนแรงของการเลือกตั้ง เชื่อว่าจะยังจบเพียงเท่าที่ ยังมีเหตุการณ์ที่ยากจะคาดเดาได้ในช่วงโค้งสุดท้าย รวมถึงผลการเลือกตั้งที่จะออกมาว่าใครได้เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ซึ่งผลของการได้พรรคการเมืองที่เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่าจะเดินหน้าการลงทุนกันอย่างไร หลังจากที่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากระแสการลงทุนของนักลงทุนในประเทศ และต่างประเทศหยุดชะงัก เพื่อรอความชัดเจนของทิศทางการเมืองของประเทศว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้มีผลการจากศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปากท้องคนไทยและเศรษฐกิจประเทศหลังการเลือกตั้ง2562” ซึ่งจากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.84 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยแย่ลง รองลงมา ร้อยละ 27.13 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเหมือนเดิม และร้อยละ 7.03 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยดีขึ้น ส่วนความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจไทย หลังการเลือกตั้ง 2562 และได้รัฐบาลใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.64 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 32.27 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะเหมือนเดิม และร้อยละ 4.09 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะแย่ลง ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการ และนักธุรกิจ มีมุมมองต่อเรื่อง “เศรษฐกิจประเทศหลังการเลือกตั้ง2562” นั้น มีหลายหลายมุมมองที่น่าสนใจ โดย “ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจไทย หลังการเลือกตั้ง 2562 นั้น เชื่อว่าจะมีการแข่งขันสูงพอสมควร ซึ่งหากผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว มีรัฐบาลเข้มแข็ง ไม่มีปัญหาทางการเมืองตามมา เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้อย่างโดดเด่น “รัฐบาลจะมีเวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากการเลือกตั้งในการตั้งครม. และเสนอนโยบายใหม่ ๆ เข้ามา ซึ่งเศรษฐกิจจะค่อย ๆ เงยหัวขึ้นเป็นลำดับ แต่การเติบโตจะโดดเด่นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความชัดเจนนโยบายของรัฐ และเศรษฐกิจโลกเอื้อต่อรัฐ” ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าว และว่า รัฐบาลมีหลักประกันหนุนหลังอยู่แล้ว คือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และโครงการเมกะโปรเจค เงินเหล่านี้ทำให้เกิดการลงทุนสะพัดอย่างต่ำราว 4-6 แสนล้านบาท ในปีหน้า ซึ่งจะเป็นตัวค้ำยันเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัว ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีปัญหาโอกาสล้มเร็ว เสียงข้างมากน้อย พรรคผสมกันไม่ได้ นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเด็ดขาดนั้น ก็จะส่งผลให้คนจะไม่มั่นใจ จนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไปผนวกกับเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตต่ำกว่า 4% ฉะนั้นเศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับหน้าตาของรัฐบาล คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศ แต่การลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ก็ยังคงขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลปัจจุบัน ออกพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในพื้นที่อีอีซี ไม่หยุดชะงัก เหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยหากการลงทุนในอีอีซีไปตามเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี อนาคตเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวได้จากฐานเดิมอีก 2% ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ,นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวว่า การลงทุนของนักลงทุนในปีนี้ต้องยอมรับว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่ เนื่องจากยังรอดูความชัดเจนในเรื่องของการเลือกตั้งว่าจะได้รัฐบาลใดเข้ามาบริหารประเทศ และจะดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ซึ่งการเลือกตั้งในรอบนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ในแง่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ทั้งนี้ในรัฐบาลชุดนี้พยายามบอกกับนักลงทุนว่า ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, มี พ.ร.บ.อีอีซี และอื่นๆ ที่จะผูกมัดรัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ให้ไม่สามารถล้มเลิกโครงการได้ แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนระยะยาวที่จะเข้ามาลงทุนก็อยากเห็นความชัดเจนมากกว่านี้ ทำให้อาจจะมีการชะลอการลงทุน เพื่อรอดูว่าจะเป็นไปตามที่รัฐบาลนี้บอกไว้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปตามดังกล่าวก็จะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงชะลอตัว ก็อาจทำให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องหาตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งการลงทุนใน EEC หรือ ธุรกิจใหม่ๆ จะช่วยเสริมศักยภาพการเติบโตในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว “ฝากถึงรัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ว่าให้สานต่อโครงการต่อเนื่องจากรัฐบาลนี้ เช่น EEC เป็นต้นและอย่ามุ่งเน้นประชานิยมเพียงอย่างเดียว เนื่องจากอาจจะทำให้ประเทศไปไม่รอด”นายไพบูลย์ กล่าว กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคการส่งออก คาดหวัง รัฐบาลใหม่ จะมีการปรับกฎหมายในประเทศและอำนวยสะดวกโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการส่งออก รวมถึงดูแลอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลจึงต้องช่วยเอกชนลดต้นทุน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายการส่งออก 8% นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า หลังเลือกตั้งจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ชั่วคราว แต่หากรัฐบาลอยากให้ ค้าปลีกเติบโตขึ้นระยะยาว รัฐต้องปรับโครงสร้างภาษีดิวตี้ฟรี ให้ดึงดูดกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทย วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะดุเดือดเข้มข้นที่สุดของประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพียงระยะสั้น แต่ในระยะยาวอยากให้รัฐบาลทบทวนการยกเว้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในไทยมากขึ้น จากปัจจุบันรายได้ภาคการท่องเที่ยวของไทยมาจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางและอาหารเป็นหลัก เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเมืองส่งผลเชื่อมั่นต่อการบริโภค การลงทุน การจัดเก็บภาษี และการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีสัดส่วน 20% ของจีดีพี ดังนั้นการเลือกตั้งจึงมีผลต่อเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ 0.3% คิดเป็นเม็ดเงิน 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินเลือกตั้งทั่วไป 5 หมื่นล้านบาท และการเลือกตั้งท้องถิ่น 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ประมาณ 4-4.2% ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่คงไม่มีผลต่อธุรกิจ แต่ภาคธุรกิจต้องการความมั่นคง และเสถียรภาพ จึงหวังว่านโยบายต่าง ๆ จะมีการขับเคลื่อนต่อเนื่อง นโยบายไหนดีก็ควรดำเนินต่อไป ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจของเราให้ดีขึ้น ส่วนนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น เรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ต้องเดินหน้าต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาล สุดท้ายแล้ววันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่คนไทยที่มีสิทธิ์ในการออกเสียง เพื่อกำหนดชะตาประเทศที่ทุกคนอยากจะเห็นว่าจะ “เดินหน้า หรือ ถอยหลัง” ก็อยู่ที่คุณจะเป็นผู้ตัดสินใจ!