ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง องค์ความรู้: พระราชพิธีบรมราชาภิเษก แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๕ แม่น้ำ “เบญจสุทธคงคา” พิธีพลีกรรมตักน้ำ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก โบราณราชประเพณีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องเตรียมทำน้ำอภิเษก โดยทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จัดที่ตั้งสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษก และน้ำสรงพระมุรธาภิเษก และเพื่อทำน้ำอภิเษกก่อนที่จะนำไปประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากข้อมูล “ประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์ เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562, เรียบเรียงสังเขป ตามตำราโบราณของพราหมณ์น้ำอภิเษกจะต้องเป็นน้ำจาก “ปัญจมหานที” คือ แม่น้ำใหญ่ทั้ง 5 สายในชมพูทวีป หรือในประเทศอินเดีย ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำมหิ แม่น้ำยมนา แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ในศาสนาพราหมณ์–ฮินดู เชื่อว่าแม่น้ำทั้ง 5 สายนี้ไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร จึงถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ นำมาใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ เช่น น้ำสรงพระมุรธาภิเษก น้ำอภิเษก และน้ำพระพุทธมนต์ ในสมัยสุโขทัย – อยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการนำน้ำปัญจมหานทีมาใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ปรากฏหลักฐานว่า น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในสมัยอยุธยาใช้น้ำจากสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังใช้น้ำในแม่น้ำสำคัญของประเทศเพิ่มเติมอีก 5 สาย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” โดยอนุโลมตามปัญจมหานทีในชมพูทวีป คือ แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบแขวงเมืองสระบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม และ แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 5 น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2411 ได้ใช้น้ำเบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ 4 สระ แขวงเมืองสุพรรณบุรี และ พ.ศ. 2415 ได้เสด็จฯ ประเทศอินเดีย ทรงนำน้ำจากปัญจมหานทีตามตำราพราหมณ์กลับมา ดังนั้นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีฯ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2416 จึงมีน้ำปัญจมหานทีเจือลงในน้ำเบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ 4 สระ แขวงเมืองสุพรรณบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 6 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อ พ.ศ. 2453 ใช้น้ำเช่นเดียวกับครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 ครั้งที่ 2 ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีฯ สมโภช เมื่อ พ.ศ. 2454 โปรดให้พลีกรรมตักน้ำจากแม่น้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ที่ถือว่าสำคัญ และเป็นสิริมงคลมาตั้งพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานที่เป็นหลักของมหานครโบราณ 7 แห่ง และมณฑลต่างๆ 10 มณฑล ในสมัยรัชกาลที่ 7 น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2468 ได้ตั้งพิธิทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่างๆ 18 แห่งในราชอาณาจักร ในสมัยรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตก่อนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในสมัยรัชกาลที่ 9 พิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระราชอาณาจักร แล้วนำมาตั้งประกอบพิธีเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2493 ทำพิธีเสกน้ำ ณ มหาเจดียสถาน และพระอารามต่างๆ 18 แห่ง ในรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระราชอาณาจักร จำนวน 107 แห่ง ตามโบราณราชประเพณี โดยทำพิธีพร้อมกันในวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2562 ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด 76 แห่งในวันที่ 8 เมษายน และเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในวันที่ 9 เมษายน จากนั้นทุกจังหวัดเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์มาตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อเสกน้ำอภิเษก รวมกับน้ำอภิเษกของกรุงเทพมหานคร จากหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง