คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” ผัดไทยเกิดขึ้นในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยดัดแปลงมาจากอาหารจีน คือ ก๋วยเตี๋ยว เพื่อให้คนไทยมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์จึงได้คิดค้นเมนูไทยคือผัดไทยขึ้นมา โดยเริ่มแรกใช้เส้นจันทบูรเป็นเส้นในการผัด ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก น้ำปลา และน้ำตาล ซึ่งผัดไทยเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมอยู่คู่กับคนไทยมานาน ตลอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย ผัดไทยจะเป็นเมนูลำดับต้นๆ ที่ชาวต่างชาติทุกคนต้องลิ้มลอง แต่ผัดไทยเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง ถ้าบริโภคในปริมาณมากส่งผลต่อโรคเบาหวาน ไขมันสูง ตลอดจนกระทบต่อผู้ป่วยโรคไต ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง เนื่องจากมีส่วนประกอบของน้ำตาลทราย น้ำปลา ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จึงได้คิดค้นซอสผัดไทยสูตรที่ยังคงความอร่อย แต่ให้พลังงานต่ำ เป็นซอสผัดไทยสูตรปราศจากน้ำตาลและโซเดียมต่ำ ใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลคือ ซูคารโลส และใช้น้ำปลาโซเดียมต่ำแทนน้ำปลา ซึ่งซูคารโลส เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เป็นสารทดแทนน้ำตาล แต่ไม่ให้พลังงาน ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ใช้น้ำปลาโซเดียมต่ำแทนน้ำปลา โซเดียมต่ำ 40% เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง และผู้ใส่ใจต่อสุขภาพ สำหรับกระบวนการในการผลิตซอสผัดไทย 1 กิโลกรัม ใช้ ซูคารโลสเพียง 2.5 กรัม เมื่อเทียบกับซอสผัดไทยเดิมใช้น้ำทรายขาวประมาณ 1000 กรัม นอกจากนี้ ต้นทุนซูคารโลสยังถูกกว่าน้ำตาลทรายทั่วไป ช่องทางในการจำหน่ายบรรจุขวดปริมาณ 200 กรัม จำหน่ายขวดละ 30 บาท หรือซอสผัดไทยสำเร็จรูปพร้อมปรุง น้ำหนัก 50 กรัม (สำหรับ 1 ที่รับประทาน) ราคา 15 บาท ครบรสในซองเดียว ประกอบกี่ครั้งรสชาติคงเดิม สามารถพกพาไปได้ทุกที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สามารถพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ขนส่งได้เป็นจำนวนมาก สะดวก ประหยัด และสามารถส่งออกจำหน่ายไปต่างประเทศได้ ส่วนในเชิงอุตสาหกรรม ผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก การใช้สารทดแทนความหวาน (ซูคารโลส) สามารถควบคุมได้ ผลิตได้รวดเร็ว ลดต้นทุนในการผลิต อีกทั้งสารทดแทนความหวานมีความคงที่เมื่อถูกความร้อนสูง และสีของซอสสม่ำเสมอมากกว่าการใช้น้ำตาลทราย ประกอบง่าย สะดวก ครบรส รสชาติคงเดิม เหมาะสำหรับครัวเรือน ร้านอาหารตามสั่ง ภัตตาคาร โรงแรม ฯลฯ รับประทานได้ทั้งบุคคลทั่วไป กลุ่มคนรักสุขภาพ ตลอดจน ตอบสนองนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่รณรงค์ให้คนไทยรับประทานอาหารที่ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มมูลค่าของสินค้า ไอเดียของผศ.พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ในการประกวดผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ระดับนานาชาติ ในงาน “Seoul International Invention Fair 2018” (SIIF 2018) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งซอสผัดไทยดังกล่าวได้จดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย ผู้ที่สนใจนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 089-600-0993 ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี