แม้ใบสดลดน้ำตาล-ความดันได้จริง แต่อันตรายมากสำหรับผู้ป่วยโรคไตไม่ควรใช้ หรือต้องให้แพทย์เฉพาะทางแนะนำเท่านั้น ชี้สมุนไพรหากกินเป็นมีประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันก็มีโทษหากไม่ศึกษา พร้อมแนะอย่าเชื่อคำโฆษณาอ้างรักษาโรคครอบจักรวาล ไม่คุ้มเอาชีวิตเป็นเดิมพัน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนหันมาให้ความสนใจในศาสตร์ด้านการแพทย์ทางเลือกเพิ่มมากขึ้น โดยใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดรักษาโรค ด้วยสรรพคุณมากมาย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากสมุนไพรวางจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น ตามกระแสของการให้ความใส่ใจในสุขภาพของคนในสังคม กรณี สมุนไพรป่าช้าเหงา หรือหนานเฉาเว่ย มีผู้สนใจนำมาปลูกเพื่อกินรักษาโรคกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนานเฉาเว่ย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ ต่อมามีการนำเข้ามาปลูก และใช้กันอย่างกว้างขวางในประเทศจีน ในตำรายาจีนระบุว่า สมุนไพรดังกล่าวใช้แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ลดอาการปวดข้อ และพบว่า ใบสดมีสรรพคุณช่วยในการลดความดันเลือด และลดน้ำตาลในเลือดได้ เป็นต้น โดยใช้ใบสดรับประทานชงน้ำดื่ม ครั้งละ 4-6 ใบ วันละ 2-3 ครั้ง และพบมีข้อห้ามใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต ดังนั้น ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอยู่ จึงไม่ควรใช้สมุนไพรดังกล่าวนี้ หรือต้องใช้ด้วยความระมัดระวังโดยอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ทางด้านสมุนไพรอย่างเหมาะสม รองเลขาฯ อย. กล่าวว่า ปัญหาที่พบจากการใช้สมุนไพรตัวนี้ คือ การกินอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ ดังนั้น ก่อนใช้สมุนไพรใดๆ จึงควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบถึงวิธีใช้ที่ถูกต้อง สมุนไพรทุกชนิดมีประโยชน์ หากกินให้เป็น และไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาสมุนไพรที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง รักษาได้สารพัดโรคครอบจักรวาล เพราะอาจได้รับอันตรายก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ให้แจ้งมาได้ที่ช่องทางการร้องเรียนแจ้งเบาะแสกับ อย. ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail: [email protected] หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ Line @Fdathai หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ