นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย อดีตปลัดอบต.และปลัดเทศบาลหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังท้องถิ่นไท ลำดับที่ 7 กล่าวว่า ในห้วงตั้งแต่กลางเดือนมกราคม – ต้นเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมาตนได้เดินทางไปพบปะคนท้องถิ่นทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำทั้ง 5 ภูมิภาคของประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคพลังท้องถิ่นไท และการที่พรรคได้ส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งทั้งในแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้ นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า คนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นข้าราชการฝ่ายประจำ ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการประเภททั่วไป สายงานผู้ปฏิบัติ สายงานวิชาการ และสายงานผู้บริหาร คือ ปลัด/รองปลัดอบต./เทศบาล ผู้อำนวยการสำนัก/กองต่างๆ รวมตลอดจนลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฝ่ายการเมืองคือ ท่านนายกเทศมนตรี/นายกอบต. รวมทั้งที่ปรึกษานายกเทศมนตรี รองนายก เลขานุการนายก ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “จำเป็นที่คนท้องถิ่นจะต้องมีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง เนื่องจากในห้วงเวลาที่ผ่านมา คนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประจำ หรือฝ่ายการเมืองต่างหวาดผวากับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของ สตง. และ ป.ป.ช. จนไม่กล้าที่จะทำงานให้กับพี่น้องประชาชน และไม่อยากจะคิดโครงการหรือกิจกรรมใหม่ๆ เพราะเกรงจะต้องถูกเรียกเงินคืนจาก สตง. และถูก ป.ป.ช.ชี้มูลให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือติดคุกติดตะราง โดยมิได้ตั้งใจ” “ซึ่งจากการพูดคุยสอบถามทุกภาคมีความเห็นตรงกันว่า กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ไม่ชัดเจน หรือขัดแย้งกันเอง ทำให้คนท้องถิ่นทำงานอย่างยากลำบาก จะก้าวไปข้างหน้าก็ห่วงปัญหาข้างหลัง ทำให้ตกอยู่ในสภาวะ “ห่วงหน้าพะวงหลัง” รวมทั้งประเด็นปัญหาสิทธิประโยชน์ของคนท้องถิ่นฝ่ายประจำ ที่หลายเรื่องด้อยกว่า ข้าราชการประเภทอื่น เช่น เงินสวัสดิการค่าเช่าบ้าน ที่พลเรือนได้รับในอัตราที่สูงกว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น การได้รับสิทธิในการขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพายคนท้องถิ่นก็มีขั้นตอนหรือเงื่อนไขที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าข้าราชการประเภทอื่น หรือการเทียบตำแหน่งข้าราชการพลเรือนก็ได้รับการเทียบสูงกว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่คนท้องถิ่นทั้งฝ่ายประจำ และฝ่ายการเมืองสะท้อนมาให้ทราบนั้น ล้วนตรงกับแนวนโยบายของพรรคพลังท้องถิ่นไทที่ต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ เหล่านั้นให้กับคนท้องถิ่นทั้งฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังการพูดคุยและแจ้งแนวนโยบายของพรรคพลังท้องถิ่นไทแล้ว คนท้องถิ่นที่ได้ไปพบทุกภูมิภาคต่างขานรับนโยบายต่างๆ และทุกคนต่างออกปากให้การสนับสนุนพรรคและจะช่วยเหลือในการชี้แจงนโยบายให้กับเพื่อนๆ ข้าราชการลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งคนท้องถิ่นฝ่ายการเมือง ตลอดจนญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และพี่น้องประชาชนที่มีความเคารพรักใกล้ชิดกันอีกด้วย “คนท้องถิ่นทั่วประเทศแม้จะไม่พูดหรือเอ่ยปากออกมาว่าจะสนับสนุนพรรคหรือจะลงคะแนนให้ผู้สมัครของพรรคพลังท้องถิ่นไท ซึ่งลงสมัคร 346 เขตทั่วประเทศก็ตาม อันสืบเนื่องจากเกรงจะมีปัญหากับอำเภอหรือจังหวัดที่กำชับในเรื่องของการวางตัวเป็นกลาง แต่จากการได้พบปะพูดคุยกับคนท้องถิ่นทั่วประเทศ ผมมีความเชื่อมั่นว่า คนท้องถิ่นและครอบครัวจะเทคะแนนให้กับพรรคพลังท้องถิ่นไท อย่างแน่นอน เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนท้องถิ่นมีความคับข้องใจ อึดอัดกับการทำงานภายใต้การกำกับที่เข้มงวดของกระทรวงมหาดไทย และเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสที่ยากจะอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้กับหน่วยตรวจสอบไม่ว่าจะเป็น สตง. หรือ ป.ป.ช. เสมือนหนึ่งว่า องค์กรเหล่านี้ตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งตรวจสอบ อบต.หรือเทศบาลเท่านั้น เชื่อว่า “พรรคพลังท้องถิ่นไท จะกวาดที่นั่งได้ไม่ต่ำกว่า 20 ที่นั่งทั้งระบบเขตและปาตี้ลิสอย่างแน่นอน” นายพิพัฒน์ กล่าว