กทม.จับมือกฟน.ทดลองใช้ เพื่อยกระดับการให้บริการ ประเดิม 77 เครื่อง โดยเมื่อผู้ใช้ไฟเติมเงินเข้าระบบก็จะใช้ไฟได้ เมื่อเงินใกล้หมดจะจะแจ้งเตือนให้เติมเงินต่อ ง่าย สะดวก รวดเร็ว ควบคุมการใช้ได้ กำหนดเวลา 1 ปี ก่อนประเมินผล พร้อมเล็งขยายต่อไปหอพักนศ.
เมื่อวันที่ 12 มี.ค.62 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.เป็นประธานแถลงข่าวพิธีลงนามความร่วมมือโครงการนำร่องทดลองติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าชนิดเติมเงินระหว่างกทม.กับการไฟฟ้านครหลวง โดยมีนายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกทม. นายพงษ์ศักดิ์ ละมูนกิจ รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกทม. การไฟฟ้านครหลวง สำนักการคลัง สำนักงานตลาด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.
ทั้งนี้ กทม.ร่วมกับกฟน. ลงนามความร่วมมือโครงการนำร่องทดลองติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าชนิดเติมเงิน ณ ตลาดบางกะปิ ซอยลาดพร้าว 127 เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการสาธารณูปโภค นำร่องโครงการทดลองติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าชนิดเติมเงิน 77 เครื่อง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการจดหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าจากเดิมใช้ไฟฟ้าก่อนประมาณ 1 เดือน (Postpaid) มาเป็นการเติมเงินล่วงหน้าแบบออนไลน์ (Prepaid) เมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าเติมเงินค่ากระแสไฟฟ้าเข้าระบบ ก็จะสามารถใช้กระแสไฟฟ้าได้ หากจำนวนเงินในระบบใกล้หมด จะมีข้อความแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเติมเงินหากต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ระบบการใช้ไฟฟ้าแบบเติมเงิน สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว จะช่วยควบคุมการจัดเก็บรายได้ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ประหยัดการใช้ไฟฟ้า ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน
รองผู้ว่าฯกล่าวว่า กทม.โดยสำนักงานตลาด ดำเนินโครงการนำร่องดังกล่าวในการพัฒนามาตรฐานตลาด โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับผู้ประกอบการค้าที่เข้ามาค้าขายภายในตลาดบางกะปิ สอดคล้องนโยบายของทั้ง 2 หน่วยงาน ที่ตระหนักความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด สนับสนุนส่งเสริมการค้าและบริการให้สะดวกเพิ่มมากขึ้น ตรงตามความต้องการของผู้ค้าที่ใช้ไฟฟ้าแบบรายวัน ซึ่งหากโครงการสำเร็จจะพิจารณาขยายไปสู่ตลาดอื่นๆต่อไป
ด้านรองผู้ว่าการกฟน.กล่าวว่า กฟน.มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมขับเคลื่อนพลังงานเพิ่มวิถีชีวิตเมืองมหานคร ตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐในการยกระดับคุณภาพงานบริการ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนี้ โดยมีระยะเวลา 12 เดือน ในระยะแรกจัดให้มีระบบเติมเงินผ่านตู้อัตโนมัติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ค้าภายในตลาด โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามที่กทม.กำหนดไว้ หน่วยละ 5 บาท เมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะประเมินผลและพิจารณาขยายผลโครงการไปยังหอพักนักศึกษา ซึ่งจะต้องหารือในรายละเอียดต่อไป