ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.อยู่ที่ 69.0 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 2จากเลือกตั้งคึกคักเม็ดเงินสะพัด-นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยหนุน จับตาสงครามการค้า-เศรษฐกิจโลกตกต่ำฉุดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตต่ำกว่า4% แตะ3.8% นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนก.พ 62 อยู่ที่ 82.0 จาก 80.7 ในเดือน ม.ค.62 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สาเหตุสำคัญ 2 เรื่องที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ.62 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาจาก 1.สถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนในไทยเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้มีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจไทยจากภาคบริการเป็นสำคัญ 2.บรรยากาศการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งมีความคึกคัก เห็นได้จากกิจกรรมการหาเสียงทั่วประเทศในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งป้ายหาเสียง,รถหาเสียง และเวทีปราศรัย กิจกรรมเหล่านี้ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดไปในแต่ละพื้นที่ โดยคาดว่าเมื่อรวมทั้งเดือนก.พ.และมี.ค.จะมีเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมรณรงค์หาเสียงทั่วประเทศประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้แม้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ตลอดจนบรรยากาศการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงสูงจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน,กรณีอังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป รวมทั้งราคาพืชผลเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 69.0 จาก 67.7 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 77.1 จาก 75.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.9 จาก 98.7 โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ด้วยว่ามีโอกาสเติบโตได้ 3.8% หรืออยู่ในกรอบ 3.7-4.2% ต่ำกว่าเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ 4.0-4.5% เนื่องจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังไม่คลี่คลาย แม้ผู้นำของทั้งสองประเทศจะมีการเจรจากันมากขึ้น โดยคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะยังส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงปลายไตรมาส 2 ส่วนกรณี Brexit ยังมองไม่เห็นความชัดเจนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากสุดท้าย ผลสรุปออกมาว่าอังกฤษต้องออกจากยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งกระทบต่อนักท่องเที่ยวยุโรปที่จะเดินทางมาไทยในช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้ ซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยปีนี้เหลือโตเพียง 3-4% จากที่เคยคาดไว้เดิมที่โต 4-5% ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ จึงทำให้ขาดแรงขับเคลื่อนงบประมาณใหม่ๆ หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ในช่วงครึ่งปีแรกนี้