ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายถนอม มะธิปิไขย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองกระทุ่ม เปิดเผยว่า โรงเรียนวัดหนองกระมุ่ม เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านยาง อำเภอลำปลายมาศ จัดการศึกษาตั้งแต่ชั้น อนุบาล ถึงมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียน รวม 195 คน และเป็นโรงเรียนในโครงการโรงเรียนดีประจำตำบลช่วงปีการศึกษา 2559 - 2560 โรงเรียนได้ส่งผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ เรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายของท้องถิ่น ซึ่งในชุมชนมีการใช้ซิ่นตีนแดงเป็นจำนวนมาก คณะครู และนักเรียนจึงได้เริ่มแต่งกายด้วยผ้าที่มีอยู่ในชุมชน คือ ครูและนักเรียนหญิง ใช้ผ้าซิ่นตีนแดง และครู นักเรียนชาย นุ่งโสร่ง ต่อมาในปีการศึกษา 2561 จึงได้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่น “การทอซิ่นตีนแดง” โดยนำตัวชี้วัดหลักสูตรแกนกลาง มาตรวจสอบดูว่าการทอซิ่นตีนแดง สามารถที่จะดำเนินการจากชั้นใดได้บ้าง จากนั้นจึงพานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4- มัธยมศึกษาปีที่ 3 ออกไปแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เพื่อศึกษาเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่น “การทอซิ่นตีนแดง” ของโรงเรียน นางจิรันธนิน ขันติโชติบริบูรณ์ ครูผู้สอน ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการหลักสูตรท้องถิ่น “การทอซิ่นตีนแดง” กล่าวว่า ชุมชนบ้านหนองกระทุ่ม ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียน และบ้านห้วยตะเคียน เป็นชุมชนที่ได้สืบทอดการทอผ้าไหมซิ่นตีนแดง มานาน แต่ระยะหลังภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างมีอายุไขยมากขึ้นปัจจุบันมีภูมิปัญญาที่อายุระหว่าง 65-92 ปี อยู่เพียง 3 คน และมีเพียง 1คนที่ยังทอผ้าไหมอยู่ แต่ไม่ใช่การทอซิ่นตีนแดงแล้วเช่น ผ้าถุง ผ้าขาวม้า โสร่ง เป็นต้น เพราะปัญหาทางสายตา มองเส้นด้าย ได้ไม่ชัดเจน จากปัญหาดังกล่าว จึงมีลูกหลานในชุมชนอายุระหว่าง 45-60 ปี ได้ช่วยกันรักษาภูมิปัญญาการทอซิ่นตีนแดง เป็นจำนวนมาก ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 ของชุมชน แต่เป็นการนำเอาด้ายที่มีการมัดลายหมี่ สำเร็จรูปมาทอ เพื่อใช้ในครัวเรือน และไว้แจกลูกหลานที่มาเยี่ยมเยือน รวมทั้งนำไปช่วยงานบุญในชุมชนในโอกาสต่างๆ เช่น งานบวชนาค งานกฐินสามัคคี งานผ้าป่าสามัคคีงานทำบุญกระดูก เพื่อนำไปเป็นรางวัลการโปรยทาน และให้ลูกหลาน นุ่งซิ่นตีนแดง เพื่ออนุรักษ์ไปร่วมทำบุญที่วัด เมื่อพานักเรียนไปแหล่งเรียนรู้แล้ว ทางโรงเรียนจึงเห็นปัญหา คือ การนั่งทอผ้า ระดับชั้นที่เหมาะสมและมีความรอบคอบในการทอผ้าได้ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เพราะมีความสูงและสามารถเหยียดเท้าเพื่อเหยียบ “หูก” ทอผ้าได้ แต่เพื่อให้นักเรียนทุกระดับชั้นได้เรียนรู้การอนุรักษ์ผ้าซิ่นตีนแดงอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดทำหลักสูตร โดยนักเรียนอนุบาล มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และนุ่งซิ่นตีนแดง ทุกวันอังคารตามนโยบายของจังหวัดบุรีรัมย์นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6รู้เรียนเนื้อหา4เรื่องโดยเป็นการเรียนรู้แบบโครงงาน เวลา 6 ชั่วโมง ได้แก่ ประวัติความเป็นมาของการทอผ้า “ซิ่นตีนแดงแห่งหนองกระทุ่ม” การไปแหล่งเรียนรู้ เพื่อรู้จัก วัสดุอุปกรณ์การทอผ้าซิ่นตีนแดงการไปแหล่งเรียนรู้ เพื่อดูขั้นตอนและวิธีการทอผ้าซิ่นตีนแดงและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และนุ่งซิ่นตีนแดง ทุกวันอังคาร สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เรียนรู้ในรายวิชาเพิ่มเติม กอท. เวลา 20 ชั่วโมง ประกอบด้วยเนื้อหา 5 เรื่อง ได้แก่ ประวัติความเป็นมาของการทอผ้า “ซิ่นตีนแดงแห่งหนองกระทุ่ม” การไปแหล่งเรียนรู้ เพื่อรู้จัก วัสดุอุปกรณ์ และการเลือกซื้อด้าย เลือกลวดลายการทอ ผ้าซิ่นตีนแดงที่ตนพอใจได้ ดูขั้นตอนและวิธีการทอผ้าซิ่นตีนแดง ฝึกทุกขั้นตอนและทอผ้าซิ่นตีนแดงได้ด้วยวิธีการทอแบบ “ทอมือ” ไม่ใช่การทอ “แบบกี่กระตุก” ซึ่งการทอมือ เนื้อผ้าจะแน่น และมีความหนา ลวดลายของมัดหมี่จะสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้เกี่ยวกับ การตลาด การจัดจำหน่าย การคิดต้นทุน กำไร การค้าในสังคมออนไลน์ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และนุ่งซิ่นตีนแดง ทุกวันอังคาร จากผลการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ของโรงเรียนวัดหนองกระทุ่ม ทำให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถในการทอผ้าซิ่นตีนแดง รู้จักการบริหารจัดการ การตลาด การจำหน่าย นักเรียนที่สนใจสามารถใช้เวลาว่างทอผ้า เพื่อสร้างรายได้เสริมในครัวเรือน โดยเฉพาะ นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ยังไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น สามารถยึดอาชีพการทอซิ่นตีนแดง เพื่อการดำรงชีวิตได้ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านของตนเองไปอาศัยอยู่ที่อื่น และเป็นการอนุรักษ์สืบทอดการทอผ้าซิ่นตีนแดง ผ้าเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ให้คงอยู่สืบไปด้วย