ระบุแม้กฎหมายจะเปลี่ยนใหม่ แต่ขั้นตอนไม่แตกต่าง เริ่มจากตรวจดูรายชื่อและจำลำดับไว้ จากนั้นยื่นบัตรแสดงตัวตน และรับบัตรเลือกตั้ง โดยเซ็นชื่อหรือแปะโป้งบนตั้วขั้วบัตร แล้วเข้าคูหา กากบาทแค่เบอร์เดียว หากไม่เลือกใครให้กาช่องประสงค์ไม่ลงคะแนนข้างล่างสุด พับบัตรเลือกตั้งแล้วหย่อนใส่ตู้หีบบัตร เท่านั้นจบ
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกทม.เปิดเผยว่า การเลือกตั้ง ส.ส. มีความสำคัญ ซึ่งประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยต้องไปทำหน้าที่ของตน ในการเลือกบุคคลเป็นผู้แทนไปทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ และดูแลทุกข์สุขของประชาชน รวมทั้งดูแลการบริหารงบประมาณของประเทศ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้บัญญัติให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างอิสระ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้บัญญัติวิธีการและขั้นตอน การได้มาซึ่ง ส.ส. ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แต่อย่างไรก็ดี ขั้นตอนลงคะแนนเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก ซึ่งพอสรุปเป็นลำดับขั้นได้ ดังนี้ 1.เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเดินทางไปถึงบริเวณสภานที่เลือกตั้งขอให้ตรวจสอบบัญชีรายชื่อและจดจำลำดับที่ของตนในบัญชีรายชื่อฯ ไว้ (ลำดับที่อาจเปลี่ยนแปลงจากจดหมายที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นส่งไปยังเจ้าบ้านแต่ละหลัง เนื่องจากอาจมีการเพิ่ม - ถอนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง)
2.ยื่นหลักฐานแสดงตนต่อเจ้าพนักงานเลือกตั้ง เช่น บัตรประชาชน (บัตรฯ หมดอายุก็ใช้ได้) หรือบัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ โดยต้องมีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน 3. รับบัตรเลือกตั้ง โดยลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งพร้อมรับบัตรเลือกตั้ง
4. ทำเครื่องหมายกากบาท เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท ( X ) เลือกผู้สมัครเพียงหมายเลขเดียว หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใดให้ทำเครื่องหมาย กากบาท ( X ) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 5. ใส่บัตรเลือกตั้งลงในหีบบัตร เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งให้เรียบร้อย และใส่บัตรเลือกตั้งลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง
“ด้วยกระบวนการ 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพียงเท่านี้ ท่านก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการเลือกคนดีเข้าไปเป็นผู้แทนของท่านในการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงขอเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนร่วมทำหน้าที่ของตนเองตามระบอบประชาธิปไตยตามที่ได้กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญด้วย” ปลัดกทม.ทิ้งท้าย