ได้เวลา “เบิกฟ้า” อย่างชนิด “ฟ้าใหม่” คือ เวหาท้องนภา ของ “สิงคโปร์” เจ้าของฉายาแดน “ลอดช่อง” กันอย่างแท้จริง สำหรับ แผนการจัดซื้อ “ฝูงนกเหล็กเพชฌฆาต” หรือ “ฝูงเครื่องบินรบขับไล่” รุ่นใหม่ มาประจำการใน “กองทัพอากาศ” โดย “ฝูงนกเหล็กพิฆาต” ที่กองทัพอากาศแห่งแดนลอดช่อง หมายให้มาประจำการตามฐานบินต่างๆ ในชุดใหม่นี้ ก็ต้องบอกว่า เป็น “เครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดแห่งยุค” คือ ยืนอยู่หัวแถวระดับแถวหน้าในหมู่เครื่องบินขับไล่ด้วยกันเลยก็ว่าได้ นั่นคือ “เอฟ-35” หรือชื่อเต็ม “เอฟ-35 ไลท์นิง” ซึ่งปัจจุบันเป็น “ไลท์นิง ทู (Lightning II)” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “จอยน์ท สไตรค์ ไฟท์เตอร์” หรือ “เจเอสเอฟ (Joint Strike Fighthe : JSF) ” อันเป็นเครื่องบินขับไล่ยุค หรือรุ่น ที่ 5 ที่ได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีการบินเชิงยุทธศาสตร์ชั้นสูง จากบริษัทผู้ผลิต คือ “ล็อกฮีด มาร์ติน” ในสหรัฐอเมริกา จนเลยล้ำของการเป็นเครื่องบินขับไล่ทั่วไป กลายเป็น “เครื่องบินรบล่องหน” ที่มีขีดความสามารถ เล็ดรอดการตรวจจับจากเรดาร์ของฝ่ายตรงข้ามได้ แบบราวกันว่า เครื่องบินลำใหญ่แต่สามารถล่องหนหายตัวได้ปานนั้น ฝูงบินขับไล่ “เอฟ-35” ด้วยความล้ำสมัยทางเทคโนโลยีของ “เอฟ-35” ข้างต้น ก็ส่งผลให้คณะทำงานด้านความมั่นคงของสิงคโปร์ นำโดย “นายอึ้ง เอ็น เฮน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” เลือก “นกเหล็กมหาประลัย” ตระกูล “เอฟ” รุ่นนี้ มาประจำการในกองทัพอากาศของสิงคโปร์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเจรจาซื้อขาย แลกเปลี่ยนข้อตกลงเงื่อนไข โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 9 -10 เดือน นับจากนี้ ทั้งนี้ ทาง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งแดนลอดช่อง” ได้แถลงก่อนหน้านี้ว่า กระทรวงกลาโหมได้ตัดสินใจเลือกเครื่องขับไล่เอฟ-35 รุ่นนี้ เพื่อความเหมาะสมจากการประเมินในชั้นต้น ซึ่งเบื้องต้นก็จะซื้อกันไม่กี่ลำ โดยอาจจะเป็น 1 – 2 ฝูง หรือประมาณ 4 – 8 ลำ ก่อน เพื่อประเมินขีดความสามารถอย่างเต็มพิกัด รายงานข่าวเผยว่า การตัดสินใจเลือก “เอฟ-35” ของกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ข้างต้น ก็เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับทัพยุทธศาสตร์ทางอากาศแห่งแดนลอดช่องครั้งใหญ่ ได้แก่ การปลดประจำการฝูงบินขับไล่แบบ “เอฟ-16” ซึ่งจะมีขึ้นหลังปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) โดยจะทะยอยปลดประจำการของฝูงบินรบดังกล่าว ที่มีอยู่ด้วยกันจำนวนทั้งสิ้น 60 ลำ ออกจากกองทัพอากาศสิงคโปร์ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ทะยอยปลด “เอฟ-16” ก็จะให้ “เอฟ-35” ทะยอยเข้ามาประจำการแทน เครื่องบินขับไล่แบบ “เอฟ-16” ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ โดยฝูงบินรบ “เอฟ-35” ที่จะตบเท้าเข้าประจำการในกองทัพอากาศสิงคโปร์ที่ว่า ก็ผ่านการพิจารณาเลือกสรรในการประชัน “สเป็กต์” ระหว่างเครื่องบินขับไล่ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยในหลายๆ ยี่ห้อ และหลายๆ ค่ายด้วยกัน ซึ่งนอกจาก “เอฟ-35” ของทางค่ายลุงแซม แดนสหรัฐฯ แล้ว ก็ยังมี “ยูโรไฟท์เตอร์ไต้ฝุ่น” หรือ “ยูโรไฟท์เตอร์ 2000” ของทางฟากยุโรป และ “เฉิงตู เจ-20” จากแดนมังกร คือ จีนแผ่นดินใหญ่ ก็ส่งเข้าประกวดด้วย แต่ปรากฏว่า กระทรวงกลาโหมแห่งแดนลอดช่อง ได้เลือก “เอฟ-35” ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ฝูงบินขับไล่ แบบ “ยูโรไฟท์เตอร์ ไต้ฝุ่น” ของค่ายยุโรป บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า การตัดสินใจเลือก “เอฟ-35” ของทางการสิงคโปร์ ก็มีนัยยะน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง นอกเหนือจากการขยับปรับทัพครั้งใหญ่ของแดนลอดช่อง ประเทศเกาะเล็กๆ แต่ล้ำสมัยของภูมิภาคอุษาคเนย์แห่งนี้แล้ว ก็ยังเปรียบเสมือนหนึ่งเป็น “สาร” คือ “ข้อความ” จากสิงคโปร์ ที่ส่งตรงถึง ต่อทั้งสหรัฐอเมริกา พญาอินทรี และพญามังกร จีนแผ่นดินใหญ่ กันเลยก็ว่าได้ โดยสารที่ส่งไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ก็แสดงถึงความวิตกกังวลต่อการขยายอิทธิพลของพญามังกรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทะเลจีนใต้ น่านน้ำทะเลพิพาท ที่จีนแผ่นดินใหญ่ กำลังขยายอิทธิพลอย่างแข็งขัน จนทางการสิงคโปร์ ต้องเสริมเขี้ยวเล็บด้านทัพฟ้า เพื่อเสถียรภาพความมั่นคงของตนเอง นอกจากนี้ ก็ยังเป็นส่งสารไปยังสหรัฐฯ ถึงความเป็นพันธมิตร ที่มิใช่แต่เฉพาะพญาอินทรีสหรัฐฯ เองเพียงประเทศเดียวด้วย ทว่า ยังรวมชาติพันธมิตรอื่นๆ ของสหรัฐฯ ตามแผนปรับยุทธศาสตร์ ที่สิงคโปร์ หมายมั่นที่จะซ้อมรบกับบรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ด้วยมาตรฐานเขี้ยวเล็บที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ซึ่งต่างก็ใช้ฝูงบินขับไล่รุ่นนี้เช่นกัน อันจะนำมาซึ่งการสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคง ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในอนาคต เครื่องบินขับไล่แบบ “เฉิงตู เจ-020” ของจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงอันดับแสนยานุภาพทางกองทัพของสิงคโปร์แล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ธรรมดา เพราะรั้งอันดับ 8 ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เป็นรองสหรัฐ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ เท่านั้น แต่มีความเหนือกว่านิวซีแลนด์ และมาเลเซีย หลังเน้นพัฒนากองทัพด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย จนล้ำหน้าไปอย่างก้าวกระโดด แม้ว่ากำลังพลจะมีจำนวนเพียงน้อยนิด กระหยิบมือเดียวกันก็ตาม