คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” “ไม้เท้านำทาง” (PMK: Disable Staff Navigator) สิ่งประดิษฐ์ช่วยผู้ป่วยทางสายตา ตรวจจับระยะ 100 ซม. ผลงานความร่วมมือ 3 สถาบัน นำโดย รศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี รศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี พร้อมด้วย พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ผนึกกำลังคิดค้นร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ เปิดเผยว่า ด้วยโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามีทหารที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะและใบหน้า ในบางรายนอกจากบาดเจ็บทางสมองแล้วอาจสูญเสียการมองเห็น จึงได้ร่วมมือเพื่อหาสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาช่วยผู้ป่วย โดยทางอาจารย์ได้คิดค้นแว่นตานำทาง ขึ้นมาเพื่อให้ผู้พิการสามารถนำไปช่วยพัฒนาทักษะในด้านการเดินและหลบหลีกสิ่งกีดขวางด้านบน ซึ่งได้ผลมาก แต่ในขณะเดียวกันการหลบหลีกสิ่งกีดขวางด้านล่างมีความจำเป็น จึงได้นำแว่นตานำทางมาตายอดและพัฒนาเป็นไม้เท้านำทาง พ.อ.รศ.นพ.สุธี กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยราชการสนามที่ได้รับผลกระทบจากสะเก็ดระเบิด มีอยู่หลายราย รวมไปถึงบุคคลหรือพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บหรือพิการตั้งแต่กำเนิด ในประเทศไทยมีผู้พิการประเภทนี้มากกว่า 100,000 คนเลยทีเดียว ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ขณะที่รศ.ดร.เดชฤทธิ์กล่าวว่า นวัตกรรมต่อยอดจาก “PMK Glasses Navigator” แว่นตานำทาง มาเป็นไม้เท้านำทาง โดยมีนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ประกอบด้วย นายกฤตนัย พิรุณคุณกาญจน์ และนายพรหมมินทร์ โสมวิภาต ผู้ช่วยงานวิจัยนี้ หลักการทำงานของไม้เท้านำทาง เมื่อผู้พิการนำไปใช้เมื่อเจอสิ่งกีดขวางด้านล่าง จะทำให้ไม้เท้ามีลักษณะสั่น ทำให้ผู้พิการรู้ว่าด้านหน้ามีสิ่งกีดขวาง สำหรับระยะการตรวจจับจะอยู่ประมาณ 100 ซม. โดยภายในกล่องควบคุมประกอบไปด้วย มอเตอร์ขนาดเล็ก ไมโครคอนโทรลเลอร์ เซ็นเซอร์ และวงจรไฟฟ้า ทั้งนี้ ได้มีการนำทดสอบกับผู้พิการทางสายตา 2 คน คือ คุณมเหศักดิ์ วงษ์นอก และคุณพูลทิพย์ หิรัญโน ซึ่งเป็นผู้พิการตาบอดทั้ง 2 ข้าง จากการทดสอบกับผู้พิการทั้ง 2 คน มีความพึงพอใจในการใช้งาน แต่ต้องการให้ไม้เท้ายาวกว่านี้ ซึ่งทางทีมงานวิจัยได้นำคำแนะนำไปปรับปรุงพัฒนาต่อไป