เกษตรฯ เดินหน้ายกระดับสัตว์แพทย์ไทย เปิดเวทีถกทั่วโลกภายใต้แนวคิด “One World One Health” ผลิตอาหารปลอดภัย ชี้สินค้าปศุสัตว์ไทย ป้อนตลาดโลก โกยรายได้ ปีละ2.4 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 6 มี.ค.62 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 43 “The International Conference on Veterinary Science 2019 (ICVS 2019)” โดยนำเสนอความก้าวหน้าด้านวิชาการของสัตวแพทย์ไทย ภายใต้แนวคิด “70 ปี สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์: การเฉลิมฉลองแห่งความสำเร็จ” พร้อมกันนี้ได้มอบรางวัลสัตวแพทย์ตัวอย่าง ประจำปี 2561 ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ นายกฤษฏา กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่สำคัญในภูมิภาค และสัตวแพทย์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมระบบการผลิตให้มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานอาหารปลอดภัยตามความต้องการของตลาดโลก สินค้าปศุสัตว์ไทยสร้างมูลค่าจากการส่งออกปีละกว่า 240,000 ล้านบาท อีกทั้งโลกต้องการอาหารโปรตีนจากสัตว์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งวิชาชีพสัตวแพทย์มีความสำคัญในการดูแลและพัฒนาให้การผลผลิตจากปศุสัตว์มีมาตรฐานสู่อาหารปลอดภัยในระดับโลกทั้ง การควบคุมโรคระบาดสัตว์เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิตทั้งคนและสัตว์ ภายใต้แนวคิด “One World One Health” ซึ่งวิชาชีพสัตวแพทย์ของไทยซึ่งก้าวหน้าและเป็นผู้นำระดับภูมิภาคอยู่แล้วนั้น มีการพัฒนายกระดับยิ่งขึ้น โดยสัตวแพทย์ทั่วประเทศสาขาต่างๆ จะได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงรับทราบความก้าวหน้าทางวิชาการยิ่งขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ด้วย ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะที่ปรึกษาสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้จะทำให้เกิดการยกระดับความรู้ทางวิชาการและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสัตวแพทย์ไทยและต่างประเทศซึ่งจะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การควบคุมป้องกันโรคสัตว์ และความปลอดภัยด้านอาหาร นายสัตวแพทย์สมชวน มังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะนายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “70 ปี สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์: การเฉลิมฉลองแห่งความสำเร็จ” จากที่ก่อตั้งสมาคมขึ้นมาในพ.ศ. 2491 สามารถประสานความร่วมมือและสนับสนุนเครือข่ายสัตวแพทย์ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้เกิดความร่วมมือและแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกันเช่น การควบคุมโรคระบาดสัตว์ผ่านแดน โรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำในสัตว์ทุกชนิด ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมและสังเกตการณ์มากกว่า 700 คน ซึ่งมั่นใจว่า จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพสัตวแพทย์ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น