ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระรองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถบรรยายต่อไปว่า ปัจจุบันผ้าไหมไทยส่งออกนอก สำหรับผ้าไหมแพรวาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ฟังชาวบ้านรายงาน นึกว่าฟังผิด หรือไม่ก็ชาวบ้านอ่านผิด เขาบอกว่าครึ่งปีแรกจนถึงกรกฎาคม เขาทำงานมาได้แล้ว ๔๘ ล้านบาท ตกใจ นึกว่าอ่าน ๔.๘ ล้านบาท เป็น ๔๘ ล้านบาท พอเขารายงานเสร็จ ก็ถามเขาว่า ๔๘ ล้านบาทเหรอ เขาบอกใช่ นี่คือหกเดือนแรก (แต่ปีที่ผ่านมาเขาได้ ๑๖ ล้านบาท) ยังอยู่อีกหกเดือนที่จะจบปี ๒๕๕๘ เขาจะได้อีกเท่าไรเราคงต้องถามไป คือดีใจมากเพราะว่าผ้าแพรวาไม่มีเลยซักผืนเดียวที่เขาจะทำ แต่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ รื้อฟื้นให้เขาทำ จนบัดนี้มีรายได้เข้าหมู่บ้านครึ่งปี ๔๘ ล้านบาท เห็นได้ว่าสิ่งที่พระองค์ทรงทำมันมากมายมหาศาล ทุกคนเชิดหน้าชูตาแล้วว่า ผ้านี้ไม่ใช่ผ้าบ้านนอกต่อไปแล้ว ทุกคนใช้เขามีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งเลย เป็นความสำเร็จของโครงการที่พระองค์ทรงทำ ได้นำความกราบบังคมทูลทรงทราบ ทรงปลื้มพระทัยว่า ชาวบ้านทำรายได้ได้มากมาย และคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวหันกลับมาทำสิ่งเหล่านี้ ถึงแม้จะนุ่งกางเกงยีนใส่เสื้อยืด แต่รู้แล้วว่านี่คืองานที่สร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้ามาทำงานในเมืองไม่ได้ โรงงานเต็ม ไม่สามารถแย่งงานกันทำ เขาอยู่บ้านเขาก็มีกิน แล้วยังรักษาสิ่งที่เป็นสมบัติของชาติเอาไว้ด้วย อย่างที่ทรงทำเรื่องโขน เรื่องของโขนความจริงแล้ว มีวิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร ที่ทำงานโดยตรงอยู่แล้ว แต่พระองค์ท่านมีมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งมีงานเย็บปักถักร้อย ทอผ้า เพราะฉะนั้นเครื่องแต่งกายของโขน ซึ่งนับวันจะหาคนทำยาก แม้แต่กรมศิลปากรเอง ก็หาคนที่จะมานั่งปักลวดลายละเอียดด้วยดิ้น ที่เรียกว่าปักแบบสะดึงกรึงไหม จะต้องปักละเอียดมากเลย ให้อยู่กับเนื้อผ้าเลย หาคนทำยากมาก คนรุ่นเก่าก็ล้มหายตายจากไป แล้วก็ไม่มีใครอยากทำ เพราะเป็นงานที่ยากช้าเสียเวลา ไม่มีความรู้ไม่อยากทำ สิ่งเหล่านี้เหมือนศิลปาชีพเหมือนกัน ก็รับสั่งว่า เราก็ทำแล้วกัน อีกประการหนึ่ง การดูโขน โขนนี้ยากมากเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย แล้วก็เล่นอยู่เรื่องเดียวคือ เรื่องรามเกียรติ์ แต่ว่าบทพระราชนิพนธ์มีกันแทบจะทุกพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็มีบทพระราชนิพนธ์ บทพระราชนิพนธ์แต่ละพระองค์จะไพเราะมาก รัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ เรื่อยลงมาเลยจนมารัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ โขนพระราชทานตอนนี้ ที่เล่นอยู่ขณะนี้ที่ศูนย์วัฒนธรรม ดีใจมากที่เราเอาตอนพรหมมาศกลับมาเล่นใหม่ เพราะว่าเดิมเราเล่นเรื่องแรกคือ ศึกอินทรชิต ตอนพรหมมาศ เราเล่นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๐ รับสั่งเรื่องโขนเมื่อปี ๒๕๔๗ ว่า โขนเดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยจะดู ทอดพระเนตรเปิดทีวีทรงเห็นเป็นการร้องรำทำเพลงสมัยใหม่ ก็ทรงห่วงว่าคนไทยอย่าเพิ่งลืมโขนนะ เพราะโขนนี้เป็นศาสตร์และศิลป์มากมาย และเป็นสมบัติของชาติทั้งนั้น ทั้งเรื่องการแสดง การขับร้อง ดนตรี เสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว หัวโขน เครื่องประดับ เป็นฝีมือคนไทยที่สืบทอดมายาวนาน ทำไมคนปัจจุบันดูน้อยลงจนจะไม่ดูเลย ช่างด้านต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะหายไปหมด มีรับสั่งว่าทรงอยากจะทำเรื่องโขน โดยที่รับสั่งกับอาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร ว่าให้จัดการศึกษาดู เพราะอาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร เป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ให้ไปรวบรวมผู้รู้ ก็จัดกันขึ้นมาจนเป็นคณะกรรมการถึงปัจจุบันนี้ทำการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ จากการเล่นแต่ดั้งเดิมเลย ตั้งแต่สมัยอยุธยาเลย โขนมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาร้องรำทำเพลง ที่เล่นอยู่ในปัจจุบัน รำเบิกโรงเรียกว่ารำประเลงเป็นสมัยอยุธยา แต่ว่าคนสมัยใหม่ไม่ค่อยรู้จัก ก็เป็นตัวพระออกมาถือหางนกยูงเป็นกำ แล้วออกมาร่ายรำ ซึ่งเราก็เอามาให้ดู คนดูก็จะบอกว่า รำนานจังเลย ทั้ง ๆ ที่เราประกาศให้ดูก่อนว่า รำประเลงนี้สืบทอดมาอย่างไร มาจนปัจจุบันเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีรำ แต่คนสมัยใหม่ใจร้อน บางทีออกมาบอกรำเบิกโรงยาวไป ตัดให้สั้นกว่านี้หน่อยได้ไหม ก็เลยต้องบอกว่ามันต้องครบกระบวนของเพลง นี่เป็นของเก่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็ต้องอธิบายไป เรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ก็พยายามรื้อฟื้นมาทำ การปักเสื้อผ้ายากมาก แล้วก็เล่นไปขาดไป เพราะว่าต้องกระโดดโลดเต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตีลังกาทีหนึ่ง หนุมานตีลังกาทีหนึ่งแขนนี้แทบจะแย่ เพราะฉะนั้นเราก็ค่อย ๆ ทำขึ้นมา แต่เดิมก็ไปเสาะหาผู้ที่ทำเป็นก่อน บัดนี้ศิลปาชีพมาปักได้แล้ว ก็ทำอยู่ที่ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง ผ้าที่ทอก็ไปรื้อฟื้นผ้ายกเมืองนคร ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าผ้ายกเมืองนครได้สูญหายไปเลย สมัยก่อนคนโบราณจะใช้ผ้ายกแบ่งชั้นของข้าราชการ จะไม่มีซี ๙ ซี ๑๐ แต่ผ้านุ่งจะเป็นการบอกชั้นของเสนาบดีในสมัยก่อนว่า ผ้านุ่งมีกรวยเชิงกี่ชั้นเป็นผ้ายกแบบไหน ยกไหม ยกดิ้น จะเป็นชั้นของข้าราชการ เรียกว่า ผ้าสมปักปูม ทออยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีบ้างที่ส่งไปที่อินเดีย โดยเราออกแบบลวดลายส่งไปให้ที่อินเดียทอ แล้วส่งกลับเข้ามาใช้ เราก็เอาผ้านั้นรื้อฟื้นขึ้นมา เพราะใช้ในการแสดงโขนอยู่แล้ว แต่เราต้องไปซื้อจากประเทศอินเดียมาเล่น หรือไม่ต้องซื้อจากพาหุรัด มีคนเอามาขาย เราก็เห็นว่าผ้าคนสมัยใหม่ทำ แม้แต่ที่อินเดียเองก็ไม่ละเอียดเท่าไร เลยฟื้นการทอผ้า กว่าจะฟื้นมาได้นานมาก เป็นเวลาร่วม ๑๐ ปี จากน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนจะมีโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชาวบ้านตรงบ้านเนินธัมมัง น้ำท่วม เสด็จพระราชดำเนินไปก็ทรงลุยน้ำ ชาวบ้านนั่งอยู่กับพื้น แล้วเราเองก็ให้ชาวบ้าน ทหาร เอาเสียมช่วยลากให้เกิดร่องน้ำ น้ำจะได้ไหลออกไปจากตรงที่ประทับ มีคนยากจน คนป่วยเยอะมาก วันที่เสด็จฯ ไป จนคุณหมอท่านหนึ่งบอกว่า ที่นี้เนินธัมมัง สังคัง เพราะคนป่วยเยอะ คุณหมอทำงาน แล้วพวกเราเดินทางออกไป ออกจากพระตำหนักตี ๕ ไปทำงาน แล้วกลับมาถึงคือเกือบตี ๕ ของอีกวันหนึ่ง ทางไม่ได้ดีเหมือนเดี๋ยวนี้ เรียกว่า ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ กองราชเลขานุการฯ หอบหมอนกันขึ้นรถเลย แล้วก็หลับ คนขับมีหน้าที่ขับไป ในภาพนี้คือภาพที่เสด็จบ้านเนินธัมมัง ลุยกันแบบนี้เลย เราต้องจดงาน ต้องเอาถุงพลาสติกใบใหญ่สมุดอยู่ในนั้น แล้วเอามือใส่เข้าไปจดในถุงพลาสติก คือเป็นอะไรที่ทุลักทุเลมาก เมื่อพระองค์ท่านเสด็จฯ กลับแล้ว ต่อมาน้ำลดหมดแล้ว ทรงขอสร้างศาลาใหญ่ ๑ หลัง และให้ใต้ถุนสูง ทางกองบัญชาการทหารสูงสุดได้ทำถวาย เป็นศาลาหลังใหญ่มาก ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ทุกวันนี้