เพจ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ระบุ ภาวะโลกร้อน (Global warming) เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นในระยะยาวก่อให้เกิดผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างกังวล ต้นตอของปัญหานี้ หลักๆแล้วมาจากก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มาจากการเผาไหม้น้ำมัน รวมทั้งก๊าซมีเทนที่มาจากปศุสัตว์ แต่มีอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่ออุณหภูมิของโลก ทว่ากลับไม่ค่อยถูกพูดถึงคือ เมฆ และ แอโรซอล (aerosol) แอโรซอล คือ อนุภาคฝุ่นหรือละอองของเหลวที่เล็กมากจนแขวนลอยค้างอยู่ในอากาศ โดยบางส่วนเป็นฝุ่นละเอียดจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาไหม้ซึ่งเป็นมลภาวะ อย่างไรก็ตาม แอโรซอลประเภท CCN (cloud condensation nuclei) ที่ขนาดอนุภาคพอเหมาะสามารถส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากพวกมันสามารถทำให้ไอน้ำเกิดการควบแน่นเป็นหยด แล้วรวมตัวกลายเป็นเมฆ ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าเมฆและแอโรซอลนั้นส่งผลให้โลกเรามีอุณหภูมิต่ำลงได้ เพราะพวกมันสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ออกสู่อวกาศ แต่คำถามคือพวกมันส่งผลมากน้อยแค่ไหน? ความเข้าใจธรรมชาติของแอโรซอลนั้นจำเป็นต่อการทำนายสภาพภูมิอากาศของโลกมาก ล่าสุด ทีมนักวิจัยนานาชาตินำโดย Daniel Rosenfeld ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม MODIS* (Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer) มาวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบนี้ โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลของเมฆคิวมูลัส และ สตราโตคิวมูลัสที่อยู่บริเวณมหาสมุทร (Marine stratocumulus clouds) ซึ่งเมฆทั้งสองประเภทนี้เป็นเมฆที่อยู่ไม่สูงเกินกว่า 2,000 เมตร นักวิจัยเก็บข้อมูลภาพถ่ายเมฆทั้งสองประเภทบริเวณมหาสมุทรฝั่งซีกโลกใต้ตั้งแต่เส้นศูนย์สูตรลงไปถึงละติจูด 40 องศาใต้ ในช่วงปี ค.ศ. 2014-2017 เป็นจำนวนเป็น 1.4 ล้านภาพ โดยแต่ละภาพครอบคลุมบริเวณ 110x110 ตารางกิโลเมตร จากนั้นนักวิจัยเลือกชั้นเมฆที่ไม่ถูกบังโดยเมฆชั้นสูงๆจนเหลือให้วิเคราะห์ราว 6.6 แสนภาพเท่านั้น การวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่าย 6.6 แสนภาพ ขนาดนี้ต้องใช้เครื่องมือทางสถิติมาช่วย โดยมีผลลัพธ์ที่น่าสนใจดังนี้ 1. แอโรซอลและเมฆ เมื่อรวมกับตัวแปรต่างๆทางอุตุนิยมวิทยาส่งผลต่อการสะท้อนแสงและการเย็นลงของโลก 95% 2. แอโรซอลในกลุ่มเมฆเหล่านี้สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์และส่งผลให้โลกเย็นลงได้มากกว่าที่เคยคิดกันมาก กล่าวคือแอโรซอลส่งผลต่อการสะท้อนแสงอาทิตย์ ¾ ของการสะท้อนแสงโดยเมฆและแอโรซอลรวมกัน 3. แอโรซอลยังส่งผลต่อคุณสมบัติของเมฆโดยทำให้เมฆมีหยดน้ำมากขึ้นและดำรงอยู่เป็นกลุ่มก้อนได้นานขึ้น 4. ยิ่งเมฆมีหยดน้ำมากก็ยิ่งส่งผลให้ความร้อนถูกสะท้อนออกได้มากตามไปด้วย โดยผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science ที่มีความน่าเชื่อถือสูง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้ ข้อมูลจากงานวิจัยนี้น่าจะเป็นผลงานสำคัญที่ได้จากดาวเทียม MODIS ซึ่งจะส่งผลต่อแบบจำลองโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่นๆให้ใกล้เคียงความจริงยิ่งขึ้นในอนาคต ....................................................... *ดาวเทียมMODIS ถูกส่งไปโคจรรอบโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 โดยองค์การนาซา มันเป็นดาวเทียมที่เก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศและภูมิศาสตร์โลก ทั้งกลุ่มเมฆ ชั้นบรรยากาศ สภาพมหาสมุทรรวมทั้งสภาพแผ่นดิน) #gistdaก้าวเข้าสู่ปีที่19  #gistda #จิสด้า อ้างอิง http://science.sciencemag.org/content/363/6427/eaav0566 https://journals.ametsoc.org/…/1520-0469%281977%29034%3C095… https://phys.org/…/2019-01-cooling-effect-aerosols-cumulus-… https://www.gfdl.noaa.gov/cloud-radiative-effect/