ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา
เสกสรร สิทธาคม
[email protected]
“น้ำคือชีวิต”พระราชดำริรัชกาลที่9
ที่เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนอย่างยั่งยืน(1)
“...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙
น้ำเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ และสรรพชีวิต ไม่ว่าจะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค การประกอบอาชีพทั้งการเกษตรอุตสาหกรรมหรือการบริโภคเพื่อดำรงชีวิต เมื่อน้ำเป็นปัจจัยหลักที่ใช้ในการดำรงชีวิตทำให้ความจำเป็นและความต้องการน้ำนั้นมากขึ้นในทุกวัน แต่ความต้องการในการใช้น้ำกลับสวนทางกับปัจจุบันที่เกิดสภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง อาจด้วยเพราะวิถีโลกวิถีชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีต้นไม้ไม่มีป่าน้ำหายเกิดความแห้งแล้ง ภาวะโลกร้อนเกิดตามมา หน้าฝนน้ำมากไหลหลากบ่าท่วมทำลายผลผลิต ทรัพย์สินกระทั่งชีวิตเพราะขาดกำแพงธรรมชาติที่เกื้อกูลกันปะทะบรรเทาให้หนักเป็นเบา เมื่อถึงหน้าแล้งในภูมิภาคต่างๆของไทย กลับประสบปัญหาการขากแคลนน้ำ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเห็นความสำคัญของน้ำ ทรงตระหนักด้วยพระปรีชาสามารถ ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎร จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นลำดับแรกอย่างมากมายพระราชทานพระราชดำรัสเสมอว่า“น้ำคือชีวิต” ดังพระราชดำรัส ที่เชิญมาข้างต้น
พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองทั้งจากเอกสารและรายงานทางวิชาการที่ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำ ทรงศึกษารายละเอียดจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศถึงพิกัดที่ตั้งหมู่บ้านในท้องถิ่นชนบทห่างไกล และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจสภาพพื้นที่ภูมิประเทศจริงทรงกำหนดโครงการต่าง ๆ ขึ้นบนแผนที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงได้แรงบันดาลพระราชหฤทัยเรื่องบริหารจัดการแหล่งน้ำจากครูสอนวิทยาศาสตร์ เมื่อพระชนมายุ 10 พรรษาในการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร,โครงการชลประทาน,โครงการฟื้นฟูป่า,โครงการอนุรักษ์ดินและน้ำ
“...อาจมีบางคนเข้าใจว่า ทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทานหรือเรื่องป่าไม้จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้วสอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียน ภูเขาต้องมีป่าไม้ อย่างนั้นเม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ไปทำความเสียหาย ดินหมดจากภูเขาเพราะไหลตามสายน้ำไปก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ดินและเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอดตั้งแต่ดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำ ทำให้น้ำท่วม นี่นะ เรียนมาตั้งแต่ 10 ขวบ...”พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2512
พระราชทานแนวพระราชดำริในการสร้างฝายน้ำลำธาร หรือ Check Dam คือสิ่งก่อสร้างขวาง หรือกั้นทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วย ลำธารขนาดเล็กในบริเวณเป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถดักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่างซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้มากวิธีหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานคำอธิบายว่า การปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้น
“...จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหมุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งให้ค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย...”
รูปแบบและลักษณะ Check Dam นั้นได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า
“...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะ ๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินในบางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบเพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มชื้นเป็นลำดับ...”
ฉะนั้นจะเห็นว่าการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร หรือ Check Dam จึงเป็นแนวทางหรือวิธีหนึ่งในการฟื้นฟูสภาพป่าไม้บริเวณต้นน้ำลำธารเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์และทำให้เกิดความหลากหลายด้านชีวภาพ (Bio diversity) แก่สังคมของพืชและสัตว์ ตลอดจนนำความชุ่มชื้นมาสู่แผ่นดิน(อ่านต่อ)