ปิดทองหลังพระฯ แนะการพัฒนาที่ยั่งยืนควรให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และใช้ผลลัพธ์ด้านความสุขที่ยั่งยืนของชุมชนเป็นตัวตั้ง ชี้ผลการส่งเสริมความรู้ เกิดอาชีพการเกษตรใหม่ๆ สร้างกองทุนวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ 70 กลุ่ม หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวแถลงผลการดำเนินงาน "ก้าวปีก้าวหน้า" ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯว่า นับจากการก่อตั้งปิดทองหลังพระฯ ในปี 2553 และเริ่มดำเนินการพื้นที่ต้นแบบในจังหวัดน่านเป็นแห่งแรก ในปัจจุบันพื้นที่ต้นแบบได้ขยายไปยังทุกภาค ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี และสามจังหวัดชายแดนใต้ ตลอดการดำเนินงาน 9 ปีที่ผ่านมา และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 10 พบว่ารากเหง้าของปัญหาการพัฒนาทั้งหมดคล้ายคลึงกันในทุกพื้นที่ คือ ปัญหาความยากจนและการขาดโอกาส และหากสามารถเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพโดยมองผลลัพท์เป็นตัวตั้งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาเกือบจะทุกอย่างได้ ทั้งนี้ ประเมินผลการทำงานในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านแหล่งน้ำ มีประชาชนได้รับน้ำ 79,022 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 275,107 ไร่ ด้านอาชีพ มีประชาชนเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพ 4,536 ครัวเรือน ในช่วงเวลา 9 ปี ปิดทองหลังพระฯ ใช้งบประมาณด้านระบบน้ำและส่งเสริมอาชีพรวม 961.6 ล้านบาท ทำให้เกิดรายได้ทางตรง 2,308 ล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าของเงินลงทุน และเท่ากับเฉลี่ยครัวเรือนละ 508,818 บาท นอกจากนี้ ปิดทองหลังพระฯ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา โดยให้ประชาชนในพื้นที่เป็นศูนย์กลาง มีการส่งเสริมให้ประชาชนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มตามบริบทของพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งในปัจจุบันทุกพื้นที่เกิดกองทุน วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์รวม 70 กลุ่ม มีเงินทุนหมุนเวียน ทรัพย์สินรวมมูลค่า 15.78 ล้านบาท ผลจากการส่งเสริมความรู้ ทำให้เกิดอาชีพทางการเกษตรใหม่ๆ และประชาชนจำนวนมากสามารถต่อยอด พัฒนาการทำเกษตร ไปเป็นพืชและสัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงได้ เช่น ทุเรียนคุณภาพและแพะพันธุ์พระราชทานในสามจังหวัดชายแดนใต้ ผักปลอดภัยในจังหวัดกาฬสินธุ์ การแปรรูปผลผลิต ภายใต้ตราสินค้า “ภูธารา” ที่จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น ขณะที่มีพื้นที่พัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมแล้ว เช่น เพชรบุรีและอุทัยธานี "เป็นที่น่ายินดี ที่ผลการศึกษาการรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต้นแบบ 5 จังหวัด โดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจต่อผลที่เกิดขึ้นในระดับสูงมากทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการทำงานของปิดทองหลังพระฯ จากคะแนนเต็ม 3 ประกอบด้วย จังหวัดน่าน 2.24 อุดรธานี 2.53 เพชรบุรี 2.39 กาฬสินธุ์ 2.62 และอุทัยธานี 2.39 จุดเด่นที่สำคัญในปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงต้นๆ คือ ตอนเริ่มต้นเราทำงานใกล้ชิดกับส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำและผลผลิต แต่ปีที่ผ่านมาเกิดกระแสการร่วมงานกับเอกชนที่ชัดเจน มีภาคธุรกิจแสดงความสนใจเข้ามาร่วมกับปิดทองหลังพระฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับว่าสอดคล้องกับแนวพระราโชบาย สืบสาน รักษา ต่อยอด เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ การดำเนินงานในช่วงปี 2561 นั้น พบว่าครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 การดำเนินการของปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งสถาบัน การศึกษา ภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ ทั้ง 7 พื้นที่ 9 จังหวัด มีรายได้เพิ่มขึ้นรวม 113.7 ล้านบาท สำหรับแนวทางในอนาคต นอกจากการเพิ่มเติมความเข้มแข็งให้แก่พื้นที่ต้นแบบต่างๆ นี้แล้ว จะเพิ่มบทบาทในการนำแนวพระราชดำริไปพัฒนาชีวิตประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาความมั่นคง เช่น ในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีความรุนแรงและจังหวัดชายแดนเหนือที่เป็นแหล่งผ่านยาเสพติดเข้าสู่ประเทศ นอกจากนี้กำลังพิจารณาแผนการจัดตั้งศูนย์จัดการและส่งเสริมองค์ความรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยการทำงานด้านพัฒนา ทุกคน โดยเฉพาะประชาชนเองต้องมีความซื่อสัตย์และขยัน รวมถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันทำอย่างต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง มีความอดทน เพื่อจะได้เห็นผลสัมฤทธิ์เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในที่สุด ซึ่งสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรกับนายทุน เพื่อให้สามารถประสานประโยชน์กันได้โดยไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบมากจนเกินไป