เป็นที่น่าชัดในการประกาศควบรวมกิจการ2แบงก์ใหญ่ “ธนาคารทหารไทย” (TMB) และ “ธนาคารธนชาต”(ในเครือ TCAP) ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวมาโดยตลอด จนมาถึงวันนี้ วันที่ได้มีการแจ้งให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รับทราบอย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าจะสามารถลงนามควบรวมกิจการได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนในการที่ 2ฝ่ายไปทำการปรับปรุงเรื่องต่างๆ อาทิ โครงสร้างหนี้ ,โครงสร้างกำลังคน และโครงสร้างผู้ถือหุ้น เป็นต้น เพื่อเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนให้เกิดธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่  เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันลดต้นทุนในการจัดการสร้างประสิทธิภาพในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้กระแสข่าวการควบรวมทั้ง2 แบงก์ มีความชัดเจนหลังจากที่ทางคณะกรรมการบริหารธนาคารทหารไทย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีวาระพิจารณาเรื่องการควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารของแต่ละฝ่ายไปพิจารณารายละเอียดของแผนการควบรวมในทุกประเด็น เช่น หลังควบรวมกันแล้ว จะบริหารจัดการพนักงานของทั้ง 2 ธนาคารอย่างไร และหลังจากพิจารณาแล้วเสร็จ ให้กลับมาเสนอที่ประชุมคณะกรรมการอีกครั้ง ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่า จะต้องเสร็จเมื่อไร แต่อย่างไรก็ตามทางกระทรวงการคลังต้องการให้แผนการควบรวมกิจการแล้วเสร็จโดยเร็ว สำหรับประเด็นการเพิ่มทุนของกระทรวงการคลังนั้น ล่าสุดมีรายงานข่าวระบุว่า กระทรวงการคลังยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นหรือไม่ โดยจะขอพิจารณาหลังจากที่ลงนามในสัญญาแล้ว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ได้เสนอแนวทางเรื่องนี้มาหลายแนวทาง แต่ต้องรอความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง หากได้ข้อสรุปว่าจะต้องใส่เงินเพิ่มทุนจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ ส่วนเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นอันดับ 1, 2 และ 3 จะมีสัดส่วนการถือหุ้นในระดับที่ไม่ต่างกันมากนัก แม้กระทรวงการคลังอาจไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง แต่ตัวคนเป็นประธานจะมาจากกระทรวงการคลัง และการเลือกว่าใครมีบทบาทอะไรในธนาคารใหม่หลังการควบรวมกิจการในครั้งนี้ จะเป็นการนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธนาคาร หรือเป็นการนำความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการให้ คนของกระทรวงการคลังเป็นประธานก็จะได้ความน่าเชื่อ และความมั่นคงของธนาคาร อย่างไรก็ตามเพื่อให้การควบรวมในครั้งนี้ไม่มีอะไรผิดพลาดทางทหารไทย และธนชาต ได้ว่าจ้าง Bank of America เป็นที่ปรึกษาในการควบรวมกิจการครั้งนี้ เพื่อให้คำปรึกษาในรายละเอียดของแผนการควบรวมของสองธนาคารดังกล่าว ซึ่งยังมีรายละเอียดหลายประการที่ต้องตกลงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัดส่วนการเพิ่มทุน ของผู้ถือหุ้นแต่ละฝ่ายการกำหนดอำนาจในการบริหารจัดการว่าจะให้ใครเป็น active shareholder หรือผู้ถือหุ้นที่มีบทบาทในการบริหาร และใครจะนั่งเป็นประธานของธนาคารหลังการควบรวม รวมถึง แต่ละฝ่ายจะได้ที่นั่งในคณะกรรมการฝ่ายละกี่ที่นั่ง และการออกหุ้นเพิ่มเติมเป็นต้น และเมื่อวิเคราะห์เจาะลึกไปในเรื่องของมูลค่าหุ้น เป็นที่น่าสนใจถึงจำนวนหุ้นของทั้ง 2 ธนาคาร และทิศทางหลังจากที่ได้มีการควบรวม โดยทุนของธนชาตคาดว่าจะใช้วิธีการโอนกิจการทั้งหมดมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 130,000-140,000 ล้านบาท โดยส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่ทหารไทยเสนอขายให้กับทุนธนชาตและ bns รวมถึงผู้ถือหุ้นรายย่อยมีมูลค่าประมาณ 50,000-55,000 บาท ซึ่งหลังการควบรวมกิจการ สินทรัพย์ของธนาคารจะอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท และมีฐานลูกค้ารวม 10 ล้านราย โดยจะอยู่อันดับที่ 6 ของธนาคารพาณิชย์ไทย และทุนธนชาตจะเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ถือหุ้นประมาณ 20%) โดยจะร่วมดูแลธนาคารภายหลังการรวมกิจการ และจะมีการ rebranding หรือเปลี่ยนชื่อทางการค้าใหม่ ซึ่งจะดูจุดแข็งทั้งธนชาตและทหารไทยเป็นหลัก ขณะที่จุดเด่นเมื่อ 2 ธนาคารควบรวมกันแล้วจะดีต่อธุรกิจ อาทิ ทางงบดุลโดยการควบรวมกิจการทำให้มูลค่าของกิจการเพิ่มขึ้น ที่สำคัญการใช้สินทรัพย์และการจัดหาเงินทุนจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทำให้มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในขณะที่มีต้นทุนในการจัดหาเงินทุนลดลง ,ประโยชน์ด้านต้นทุน โดยเนื่องจากการควบรวมทำให้ขนาดกิจการใหญ่ขึ้น โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น เทคโนโลยี และการตลาดสามารถทำร่วมกันได้ และประโยชน์ด้านรายได้ โดยเมื่อรวมกิจการทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว นอกจากนี้ยังสามารถทำงานร่วมกันและเสนอผลิตภัณฑ์บริการการเงินให้ลูกค้าได้หลากหลาย เช่น ธนชาตปัจจุบันให้สินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลัก ในขณะที่ธนาคารทหารไทยมีสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต ฯลฯ ล่าสุดเพื่อการยืนยันว่าการควบรวบในครั้งนี้ระหว่างทหารไทยกับธนชาต จะไม่กระทบพนักงาน โดย “ศุภเดช พูนพิพัฒน์” ประธานกรรมการบริหารจาก บมจ.ธนชาต ผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารธนชาต กล่าวว่า การควบรวมกิจการระหว่างธนชาต และทหารไทยจะเสร็จสิ้นช่วงปลายปีนี้ โดยยืนยันจะไม่มีการปลดพนักงานของทั้ง 2 ธนาคารหลังจากการควบรวม แต่โดยธรรมชาติจะมีพนักงานลาออกและเกษียณอายุ 2 ธนาคารรวมกัน 2,000 คนต่อปี จากปัจจุบันธนชาตมีพนักงาน 12,000 คน และทหารไทยมี 8,000 คน มองว่าระดับที่เหมาะสมจะอยู่ในระดับ 15,000 คนต่อปี ส่วนจำนวนสาขาของธนชาตมี 512 สาขาและทหารไทยมี 400 สาขา ดังนั้นเมื่อควบรวมกิจการแล้วจะรวมสาขาที่ซ้ำซ้อนเข้าด้วยกัน พร้อมปรับเปลี่ยนสถานที่ตั้ง ขนาด รูปแบบ เพื่อรองรับลูกค้าให้ตรงจุดมากขึ้น โดยเมื่อรวมแล้วจะเกิดธนาคารใหม่มีทรัพย์สินรวม 1.9 ล้านล้านบาท และมีลูกค้ารวมกว่า 10 ล้านคน ทำให้เป็นแบงก์อันดับ 6 ของธนาคารพาณิชย์ไทย เช่นเดียวกับ “จุมพล ริมสาคร” รองปลัดกระทรวงการคลัง ตัวแทนผู้ถือหุ้นธนาคารทหารไทย กล่าวว่า กระทรวงการคลังพร้อมเพิ่มทุนเพื่อให้การควบรวมกิจการนี้สำเร็จ ส่วนจำนวนจะเป็นเท่าไหร่ต้องดูผลจากการทำดิวดิลิเจ้นท์ก่อน และมั่นใจหากควบรวมได้จะทำให้ธนาคารใหม่นี้แข็งแกร่งมากกว่าเดิม ซึ่งเป็นไปตามประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อระบบแบงก์ไทยและประเทศชาติ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มมากขึ้น สำหรับการควบรวมกิจการครั้งนี้จะมีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 1.3-1.4 แสนล้านบาท โดยธนาคารทหารไทย จะออกหุ้นเพิ่มทุน 2 ส่วน แบ่งเป็นการเพิ่มทุนส่วนแรกมูลค่า 5-5.5 หมื่นล้านบาท ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารธนชาต ซึ่งได้แก่ บมจ.ทุนธนชาต และโนวาสโกเทียแบงก์ ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือ 4-4.5 หมื่นล้านบาท ธนาคารทหารไทยจะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคาร ได้แก่ กระทรวงการคลัง และไอเอ็นจีกรุ๊ป รวมทั้งอาจออกหุ้นเพื่อเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันรายอื่นๆหรือนักลงทุนรายใหม่ในวงจำกัด ทำให้หลังการควบรวมสัดส่วนผู้ถือหุ้นของแบงก์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นอยู่ระดับใกล้เคียงกันมาก นำโดยไอเอ็นจีแบงก์ บมจ.ทุนธนชาต และกระทรวงการคลัง จะมีสัดส่วนมากกว่า 20% ทั้ง 3 ราย ด้านนักวิเคราะทางการเงิน “กวี ชูกิจเกษม” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บล.กสิกรไทย กล่าวถึงการควบรวมทหารไทย กับธนชาตว่า เป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้มีขนาดทุนมากขึ้น และสามารถปล่อยสินเชื่อได้ดีและใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะหาก 2 ธนาคารมีการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน จะยิ่งส่งเสริมกันมากขึ้น ทั้ง 2 ธนาคารไม่ได้มีปัญหาภายในจนทำให้ต้องมีการควบรวมกิจการกัน เพื่อให้การช่วยเหลือธนาคารใดธนาคารหนึ่ง ทำให้มองว่าหากมีการควบรวมจริงก็จะเกิดผลบวกมากกว่า นายกวี กล่วาว่า ช่วงแรกอาจต้องดูแลเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบการดำเนินงาน ต้องมีต้นทุนเกิดขึ้นแน่นอน หากผ่านช่วงนี้ไปได้ จะส่งผลในด้านบวกแน่นอน ในต่างประเทศเคยเกิดลักษณะเดียวกันนี้แล้ว และทำให้ธุรกิจมีความแข็งแรงมากขึ้น ในส่วนของตลาดหุ้นมองว่าจะให้การตอบรับที่ดีแน่นอน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นบวกมากน้อยเท่าใด รวมถึงธนาคารธนชาตเคยควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) มาแล้วในอดีต ทำให้มีประสบการณ์โดยตรงมาแล้ว การควบรวมครั้งนั้นเป็นไปได้ด้วยดีและทำให้ธุรกิจแข็งแรงจนถึงทุกวันนี้