"กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ” จัดงาน KRUNGSRI EXCLUSIVE Economic and Investment Outlook 2019 เชิญกูรูด้านเศรษฐกิจ -การเงินและการลงทุน เจาะลึกภาพรวมเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกระบุเศรษฐกิจไทยโตตามศักยภาพ 3-4% สงครมการค้าอีกยาว ด้านบิ๊กกรุงศรีรับเศรษฐกิจดีแต่คนไม่รู้สึก บริโภคไม่ดี รายได้ไม่กระจายตัว จับตาปัจจัยเสี่ยง เลือกตั้งได้รัฐบาลผสมแต่นายกฯบริหารประเทศไม่ได้ ขณะที่เจพี มอร์แกน จับตาผลประชุมเฟด แนะลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในหัวข้อ Thailand Economic Outlook 2019 เศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ว่าจากประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากสำนักวิจัยต่างๆ มองการเติบโตที่ 3-4% ถือว่าเป็นการขยายตัวตามศักยภาพ โดยการลงทุนมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่คาดหวังว่าจะกลับมา ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยที่จะพิจารณาคือ การเลือกตั้ง,การมีโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมไปถึงการผ่านเรื่องโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเช่น รถไฟฟ้า เมื่อภาครัฐเริ่มเดินเครื่องการลงทุนเหล่านี้แล้ว การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวตามมา ส่วนการบริโภคที่เคยเป็นห่วง และการส่งออกมีแต่ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ได้รับประโยชน์ ในประเด็นนี้ภาพได้เปลี่ยนมาครึ่งปีกว่าแล้ว คือเริ่มเห็นการผงกหัวขึ้น ภาคการเกษตรขยับตัวชัดเจน การจ้างงาน การบริโภค และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เริ่มอยู่ตัว ที่ยังน่าเป็นห่วงคือภาคการเกษตร แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะขยายตัวได้ 3% กว่าๆ หรือเกือบ 4% ส่วนประเด็นสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันยาว เพราะสหรัฐฯยกตัวเลขการขาดดุลการค้ามาเป็นข้ออ้าง แท้จริงแล้วต้องการให้จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านเทคโนโลยี ซึ่งจีนมีท่าทีที่อ่อนลง และพร้อมจะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น แต่ปัญหาไม่น่าจะจบลงได้ง่าย ๆ และรูปแบบการเจรจาน่าจะใช้เวลา แต่หากปัญหายืดเยื้อนานเกินไปจะไม่เป็นผลดีนัก ส่วนที่คนห่วงว่าสหรัฐฯมีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอย ความเสี่ยงที่ว่านั้นมีอยู่แต่ไม่คิดว่าแย่ โดยยังมีเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่อื่นค้ำจุนอยู่ เช่น ญี่ปุ่น และยุโรป นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า แม้ปัจจุบันดูเหมือนมีปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเข้ามา แต่เชื่อว่าด้วยโครงสร้างและนโยบายที่ออกมาแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างช่วยได้พอสมควร และยังทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง แต่จุดที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลใจคือ เศรษฐกิจดีแต่ทำไมคนไม่รู้สึก การบริโภคยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากรายได้ภาคการเกษตรที่ผ่านมา ราคาสินค้าประเภทข้าวเริ่มดีขึ้น แต่ราคาปาล์ม ยาง ยังไม่ดีนัก ทำให้รายได้ภาคการเกษตรภาคใต้ไม่ค่อยดี การไม่กระจายตัวของรายได้จึงเป็นจุดที่ต้องรีบแก้ไข อย่างไรก็ดี การลงทุนมีสัญญาณที่ดีขึ้น พบยอดการลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างชาติ ในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2561 เติบโตเกือบ 5% ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ส่วนการลงทุนภาครัฐหลายโครงการได้ผ่านการอนุมัติและก่อสร้างแล้ว เชื่อว่าไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล โครงการเหล่านี้จะยังขับเคลื่อนต่อไป กรณีสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ มีผลกระทบต่อไทย 2 แบบคือ ธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน โดยส่งวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบไปประกอบที่จีนเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯเช่น สินค้าเกษตร และเคมีภัณฑ์ ส่วนนี้จะได้รับผลกระทบ อีกแบบคือ สินค้าทดแทน หากไม่นำเข้าจากจีนก็อาจจะนำเข้าจากที่อื่นแทน ซึ่งถือว่าส่วนนี้ไทยจะได้ประโยชน์ แต่ก็พบว่าเวียดนามได้ประโยชน์มากกว่าจากตัวเลขการส่งออกที่ดีขึ้น แต่ที่น่ากังวลมากกว่าคือ ทั้งสองประเทศตกลงจะทำการค้ากันมากขึ้น ค้าขายกันเองมากขึ้น ทั้งนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เมื่อปลายเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาไม่ได้มีผลอะไรมากนัก สิ่งที่เห็นคือดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้นปรับขึ้นจริง แต่ดอกเบี้ยระยะยาวไม่ได้ขึ้นเลย ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับขึ้นก็เป็นการขึ้นแบบเฉพาะเจาะจง วงเงินไม่มาก เหตุผลของการปรับขึ้นก็ชัดเจนตามคำชี้แจงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)คือ กังวลต่อความเปราะบางในระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ปล่อยกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเปิดช่องหรือโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยกรณีเศรษฐกิจแย่มากๆ ส่วนปัจจัยเสี่ยงในขณะนี้ คงต้องพูดถึงเรื่องเลือกตั้ง เพราะว่ามีผลถึงความต่อเนื่องของนโยบาย ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้คาดเดาค่อนข้างยาก ที่เดาได้คือมีรัฐบาลผสม แต่ที่เดาไม่ได้คือพรรคใดจะผสมกับพรรคใด เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ประเด็นถัดมาคือเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว และตั้งรัฐมนตรีแล้วจะบริหารประเทศได้หรือไม่ เพราะต้องผ่านกฎหมายสภาล่าง ที่สำคัญคือ พ.ร.บ.งบประมาณจะผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่านก็บริหารประเทศไม่ได้ ไม่มีเงินใช้ แต่มีช่องทางเปิดให้คือหากกฎหมายไม่ผ่านด้วยสาเหตุบางประการ เมื่อมีรัฐบาลก็อนุโลมให้เอางบประมาณปีก่อนหน้ามาใช้ได้ แต่ไม่มีใครอยากให้ไปถึงช่องนั้น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสขึ้นได้อีก 1 ถึง 2 ครั้งในปีนี้ แต่จะไม่ขึ้นแบบต่อเนื่อง โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลต่อการเก็งกำไรจากการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทน แต่จะไม่มีผลกับคนทำงานปกติทั่วไป ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้มองว่า น่าจะมาจากปัจจัยนอกประเทศ หากเกิดเศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัวจะเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ สำหรับอีกประเด็นที่คนยังไม่พูดกันมากนัก คือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ผ่านมาเราสามารถวางกลยุทธ์ได้ถูกต้องเพราะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่คำถามคืออีก 30 ปีข้างหน้าจะเป็นอะไร ซึ่งยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ จึงเป็นโจทย์ที่จะต้องไปคิด ปรับตัวให้เร็วขึ้น บางทีต้องแยกให้ออกถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว หรือปัจจัยทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการแก้ปัญหาไม่ควรผิดพลาด ต้องแยกแยะการแก้ปัญหาระยะสั้น และระยะยาวให้ถูก นอกจากนี้ ภายในงานยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทจัดการกองทุนระดับโลก J.P. Morgan มาวิเคราะห์ถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลก และทิศทางการลงทุนในปี 2562 Jasslyn Yeo, CFA, CFTe Executive Director Global Market Strategist J.P.Morgan และ Leon Goldfeld Portfolio Manager, Multi-Asset Solutions J.P. Morgan โดย เจพี มอร์แกน ให้มุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ในช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจ เป็นช่วงขาลงก็จริง แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย จากนี้ต้องจับตาดูที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED) ซึ่งจะเป็นตัวชี้ชัดว่าเป็นอย่างไร เพราะจะส่งผลกับเศรษฐกิจโลก แต่ล่าสุด FED มีเสียงอ่อนลงในการปรับขึ้นดอกเบี้ย และต้องการรอดูข้อมูลทางเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มความระมัดระวังในการตีความว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะหากขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองครั้ง เศรษฐกิจโลกจะถดถอยทันที แต่ตอนนี้ FED พิจารณาอย่างระมัดระวังดังนั้น มองว่าอีก 12 เดือนนับจากนี้ FED จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน จึงสรุปได้ว่าเศรษฐกิจเป็นขาลงแต่จะยังไม่ถดถอย ส่วนญี่ปุ่น และยุโรปก็ต้องติดตามเช่นกัน แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในลักษณะไซด์เวย์ คือไม่ไปไหนเท่าไหร่ ส่วนจีน เติบโตต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ 6.4% ส่วนหนึ่งมาจากความตั้งใจที่ต้องการลดความร้อนแรงของจีนเอง และสงครามการค้าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ทำให้เกิดความท้าทายกับจีนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ประเด็นความตึงเครียดทางการค้าจะยืดเยื้อต่อไปแต่ไม่รุนแรง ดังนั้นแม้เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อไปแต่ไม่ให้น้ำหนักมากนัก โดยภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ค่อนข้างชอบสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งหากเรามองว่าเศรษฐกิจโลกตอนนี้มีความเสี่ยง สินทรัพย์ประเภทนี้จะมีความปลอดภัย เพราะไปในทิศทางตรงข้ามกับตลาดหุ้น ส่วนหุ้นหาก FED ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย หุ้นสหรัฐฯยังไปได้อยู่ และน่าจะให้ผลกำไร 10% ต่อปี ทำให้หุ้นสหรัฐฯยังคงลงทุนได้ สำหรับมุมมองการจัดสรรพอร์ตการลงทุน มองออกเป็นสองส่วนคือ ตลาดที่พัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่จะเป็นการกระจายการลงทุนด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม หากจีนเกิดปัญหาอาจมีผลในเชิงลบกับตลาดเกิดใหม่ แต่ภาพดังกล่าวยังไม่ชัด เมื่อไม่ชัดจึงเลือกให้น้ำหนักกับส่วนที่มีความปลอดภัยมากกว่าคือให้น้ำหนักไปที่ตลาดพัฒนาแล้วมากกว่า