เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเผยสื่อออนไลน์ฝรั่งเศสรายงานข่าวนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสถูกจับกุมและเรียกสินบนจากการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวปฏิเสธไม่จ่าย จึงถูกดำเนินคดีและถูกกักตัวพร้อมเสียค่าปรับ ย้ำโทษบุหรี่ไฟฟ้ารุนแรงเกินแถมเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทุจริต ทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ขัดแย้งอารยประเทศที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่าย ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ End Cigarette Smoke Thailand (ECST)” และเฟสบุ๊คเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” เปิดเผยว่า ขณะนี้ชุมชนชาวฝรั่งเศสในประเทศไทยมีการแชร์ข่าวนักท่องเที่ยวสาวชาวฝรั่งเศสถูกจับกุมที่ จ.ภูเก็ต เพราะใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะการทุจริตเรียกรับเงิน 4 หมื่นกว่าบาทเพื่อแลกกับการปล่อยตัว และเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกคุมขังที่น่าหดหู่ ซึ่งการจับกุมผู้ใช้และนักท่องเที่ยวที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลมาจากประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามและกำหนดโทษอาญารุนแรงทั้งจำและปรับกับผู้ใช้ ทำให้มีความสับสนในการบังคับใช้และสร้างปัญหาตามมา เช่นการซื้อขายใต้ดิน การทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศอย่างมาก โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Var-matin สำนักข่าวออนไลน์ของชาวฝรั่งเศสได้เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของน.ส.ซิซิเลีย อายุ 31 ปีถึงการมาเที่ยวพักผ่อนใน จ.ภูเก็ต เมื่อเดือนมกราคมและได้รับประสบการณ์เลวร้ายจากการถูกจับกุมและใส่กุญแจมือต่อหน้าครอบครัวด้วยข้อหาครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนถูกตัดสินให้เสียค่าปรับ 23 ยูโร หรือประมาณ 857 บาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวสาวปฏิเสธไม่จ่ายเงิน 40,000 บาท เพื่อแลกกับการปล่อยตัว นอกจากนี้เธอยังถูกกักตัวในห้องขังขนาดแคบๆ แออัด และได้รับอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวให้กลับประเทศเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเธอระบุว่าเหมือนการตกนรกในการมาเที่ยวประเทศไทย
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ต่างทราบดีว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่เฉพาะกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น ผู้ใช้ในประเทศหลายรายก็โดนจับและเรียกเงินสินบนเหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราได้ยินมาโดยตลอดจากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งๆที่พวกเราแค่ต้องการทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ร้ายมีโทษอาญาติดตัว
ทั้งนี้อยากให้กรมการค้าต่างประเทศเร่งหาแนวทางในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าใหม่ให้เหมาะสมแทนการห้ามนำเข้า คณะกรรมการได้มีการตั้งขึ้นมาแล้ว แต่การมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ซึ่งมีอคติ และขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นอื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ กฎหมายและสังคม เป็นผู้ศึกษาผลดีผลเสียของการแบน จะทำให้ผลการศึกษาไม่ครอบคลุมและขาดความเป็นกลาง เราจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งหน่วยงานอิสระอื่นมีความเป็นกลางมากกว่านี้เป็นผู้ทำการศึกษาความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้าแทน ซึ่งหากยังไม่มีความคืบหน้าจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป