ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายพุฒิพงศ์ วรรณโร และลูกสาววัย 7 ขวบ ด.ญ.สุพรรษาวรรณโร หรือน้องหงส์ ถูกแมงกะพรุนพิษตามร่างกายได้รับบาดเจ็บ ขณะลงเล่นน้ำทะเลบริเวณชายหาดแหลมสมิหลา อ.เมืองสงขลา โดยนายพุฒิพงศ์ ถูกแมงกะพรุนพิษเข้าที่มือและแผ่นหลัง ส่วนลูกสาวโดนเข้าที่บริเวณเท้าและมือ หน่วยกู้ภัยมูลนิธิร่วมใจกู้ภัยเมืองสงขลาต้องรีบนำตัวสองพ่อลูกไปส่งโรงพยาบาลสงขลาเป็นการด่วนเพื่อให้แพทย์รักษา
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ได้ตรวจสอบพบว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ย้อนหลังมาตั้งแต่ 2558 จนถึงปี 2562 จะเป็นฤดูกาลของแมงกะพรุนหัวขวดที่ถูกคลื่นซัดเข้ามาบริเวณชายฝั่ง หรือบนชายหาด เมื่อผู้ที่ลงเล่นน้ำทะเลไปถูกส่วนหางที่เป็นสายตรงนี้จะมีพิษก็จะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนขึ้นมาทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในขณะเดียวกันหลายหน่วยงานเริ่มตื่นตัวอีกครั้งหลังข่าวแมงกะพรุนพิษแพร่ออกไปเทศบาลนครสงขลาทำป้ายขนาดใหญ่เขียนข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษแจ้งเตือนภัย!!ระวังแมงกะพรุนพิษบริเวณชายหาดแหลมสมิหลาและชายหาดชลาทัศน์ แนะเลี่ยงลงเล่นน้ำทะเลหากพบเจอห้ามจับ สำหรับผู้ที่ถูกพิษของแมงกะพรุนให้ราดด้วยน้ำสัมสายชูเท่านั้น มีภาพแมงกะพรุนให้ดูด้วย ป้ายเตือนนี้ติดตั้งบริเวณวงเวียนทางเข้าชายหาดสมิหลาซึ่งเห็นเด่นชัด ส่วนทางด้านกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำป้ายแจ้งเตือนสูตรเด็ดแก้พิษแมงกะพรุน เน้นย้ำน้ำส้มสายชูเท่านั้นแก้พิษแมงกะพรุนได้ ซึ่งป้ายเตือนนี้มีทั้งหมด 10 ป้าย ติดตั้งที่ชายหาดชลาทัศน์ 4 ป้ายและชายหาดสมิหลา 6 ป้าย พร้อมมีน้ำส้มสายชูผสมสีแดงผสมอาหารติดตั้งไว้ด้วย สำหรับป้ายที่นำมาติดตั้งเข้าใจง่ายและปฏิบัติตามได้ทันที
รายงานข่าวแจ้งว่า บริเวณชายหาดแหลมสมิหลาสงขลา นายอนุรักษ์ สังข์กูล เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 สงขลา ยังคงมาปฏิบัติหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวและชาวสงขลาเกี่ยวกับแมงกะพรุนพิษพร้อมเดินประกาศบริเวณชายหาดเตือนเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองที่ลงเล่นน้ำทะเล หากเจอแมงกะพรุนห้ามใช้มือจับเด็ดขาดให้หลีกเลี่ยงโดยขึ้นจากน้ำทันที หรือหากแมงกะพรุนมาถูกตัว ทางสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 มีน้ำส้มสายชูเตรียมไว้ให้แก้พิษได้ทันที สามารถหยิบออกมาใช้ที่ติดตั้งอยู่กับป้ายแจ้งเตือนทุกแผ่นหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือได้ตลอดเวลา