ดนตรี/รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล เคยเขียนถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในเรื่องราวความเป็นมาของ ควีน ไปเมื่อสามสัปดาห์ก่อน-ก่อนหนังประวัติวงเรื่อง Bohemian Rhapsody เข้าฉาย และเมื่อได้มีโอกาสเข้าไปชมแล้ว ก็รู้สึกตะหงิดๆกับช่วงเวลาของแต่ละเหตุการณ์ที่คนทำหนัง “เลือก” นำมาเสนอ อีกทั้ง “ความจริง” ของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ก็คลาดเคลื่อน (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของแฟนสาวและแฟนหนุ่ม หรือตัว เรย์ ฟอสเตอร์ ที่รับบทโดย ไมค์ ไมเยอร์ส ก็ไม่มีตัวตนจริงๆ แต่ใส่เข้ามาให้เรื่องมีสีสัน และทำให้เพลง “Bohemian Rhapsody” ดูมีเรื่องราวน่าสนใจกว่าเดิม) จนทำให้ต้องกลับมาค้นด้วยความสงสัยส่วนตัว-ที่มีผลทำให้ดูหนังไม่ค่อยสนุก (ฮา) ได้ข้อเท็จจริงมาบอกกล่าวกันตรงนี้อีกสักหน แต่จะทำให้ดูสนุกขึ้นหรือไม่นั้น เชื่อว่าคงไม่ (ฮา) เอากันที่เรื่องสำคัญก่อนเลย ตอนท้ายที่ใช้คอนเสิร์ท Live Aid มาเป็นไฮไลท์ ในเรื่อง เพราะเป็นช่วงที่มีอะไรต่อมิอะไรผิดความเป็นจริงอยู่หลายอย่าง ที่เดินเรื่องอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ เรื่องวงแตก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น และ เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่ ก็ไม่เคยบอกกับเพื่อนๆในวงว่าเซ็นสัญญากับสังกัดใหม่ด้วยจำนวนเงินสี่ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมด้วยการขอพักวงระยะยาว ในความเป็นจริง ปี 1983 ควีน อยู่ในสถานะที่แข็งแกร่ง ตอนนั้น พวกเขามีอัลบั้ม Hot Space (1982) ออกทัวร์ได้ระยะหนึ่งก่อนตัดสินใจพักทัวร์ตามความต้องการของสมาชิกทุกคนในวง เพราะเหน็ดเหนื่อยจากการทัวร์อย่างหนักมาตลอดสิบปี แต่ยังคงเดินหน้าทำงานในสตูดิโอจนได้ The Works ออกมา อัลบั้มที่มีเพลงฮิทอย่าง “Radio Ga Ga”, “Hammer to Fall” และ “I Want to Break Free”-ที่เราได้เห็นและได้ยินกันในหนังช่วงคอนเสิร์ท Live Aid นั่นเอง ซึ่งนั่นหมายความว่า การขึ้นเวทีคอนเสิร์ท Live Aid วันนั้นไม่ใช่การรียูเนี่ยน สิ่งที่หนังจงใจไม่เอ่ยถึงคือการที่ ควีน วางอัลบั้ม The Works เมื่อปี 1984 เพิ่งเสร็จสิ้นการทัวร์รอบโลก และโชว์สุดท้ายก็สิ้นสุดลงเพียงแค่ 8 สัปดาห์ก่อนหน้า ดังนั้น พวกเขาจึงเล่นกันจนเข้าขามาเป็นอย่างดีนานแล้ว ไม่ใช่กลับมาคุยกันอีกครั้ง และกลับมาซ้อมวงกันใหม่เพื่อคอนเสิร์ทนี้โดยเฉพาะ แต่ก็นั่นแหละ หากว่าเดินเรื่องตามความจริงเป๊ะๆ อารมณ์คนดูก็คงไม่พุ่งขึ้นถึงขีดสุดในฉากจบนี้แน่นอน ในช่วงเวลาเดียวกัน-ที่หนังเล่าว่า เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่ รับรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคเอดส์ตั้งแต่ก่อนคอนเสิร์ท และบอกเพื่อนๆให้รับรู้กันเฉพาะภายใน อันที่จริง เรื่องที่เขารู้ตัวว่าไม่สบายนี้ มันก็ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดลงไปจริงๆว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่ระหว่างปี 1986-1987 ซึ่งหลังจากจบคอนเสิร์ทแล้วเป็นปี นอกจากเรื่องนี้แล้ว ก็ยังมีความเป็นจริงที่คลาดเคลื่อนอีกหลายจุด อย่าง จุดกำเนิดวง ควีน ที่หนังบอกว่า เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่ ไปชมการแสดงของ สไมล์ วงดนตรีของ ไบรอัน เมย์ กับ โรเจอร์ เทย์เลอร์ ที่ผับแห่งหนึ่งเมื่อปี 1970 และไปพบกับวงหลังโชว์ไม่กี่นาทีที่ ทิม สตั๊ฟเฟลล์ นักร้อง/มือเบสส์ ของวงเพิ่งลาออก เฟร็ดดี้ เสนอตัวด้วยการร้องเพลง “Doing Alright” ให้ฟัง แต่ในความเป็นจริง เฟร็ดดี้ เป็นเพื่อน ทิม มานานแล้วก็เป็นแฟนเพลงวง สไมล์ มาก่อนหน้าจะเข้าร่วมวง ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือ จอห์น ดีคอน ไม่ใช่มือเบสส์คนแรกของ ควีน แต่เป็นคนที่ 4 เขาไม่ได้ขึ้นคอนเสิร์ทแรกของวงเมื่อปี 1970 อย่างที่หนังนำเสนอ และไม่ได้ร่วมวงจนกระทั่งปี 1971 ซึ่งโชว์แรกของเขากับ ควีน เกิดขึ้นที่ คอลเลจ ออฟ เอสเตท แมเนจเมนท์ ในเคนซิงตัน เรื่องจริง-ไม่จริงใน Bohemian Rhapsody คงจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร-ในฐานะที่ม้นเป็นหนังที่สร้างเพื่อความบันเทิง คนดูสนุก แฟนเพลงชอบใจ (และสมาชิกวงที่เหลือก็คงต้องการให้หนังเล่าออกมาประมาณนี้) แต่ถ้าหากมองในแง่ของหนังที่สร้างจากประวัติวงดนตรีที่มีเกียรติประวัติระดับ “ตำนาน” อย่าง ควีน มันก็อาจจะทำให้การรับรู้ของคนรุ่นหลัง “ผิดเพี้ยน” ไปได้ไม่น้อยเช่นกัน