ตื่นตัวได้แต่อย่าตระหนก!! อหิวาต์แอฟริกาในสุกร ไม่ติดต่อถึงคน หมูไทยยังรับประทานได้อย่างปลอดภัย   จากข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เห็นชอบข้อเสนอของกรมปศุสัตว์ยกระดับมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever ให้เป็น วาระแห่งชาติ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเชื้อโรคที่จะมา แม้ว่าตอนนี้ เชื้อโรคตัวนี้ยังไม่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยก็ตาม   การที่ทุกภาคส่วนตื่นตัวและเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องการป้องกันและหยุดยั้งการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever เรียกสั้นๆ ว่า ASF เข้ามาประเทศไทยอย่างเต็มที่ นับเป็นการทำงานที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว เพราะเชื้อโรค ASF ตัวนี้ เป็นเชื้อโรคติดต่อในหมูที่ร้ายแรง และยังไม่มียารักษาโรค ไม่มีวัคซีนป้องกัน หมูที่ติดเชื้อโรคส่วนใหญ่จะไม่รอด ผู้เลี้ยงต้องทำลายหมูทิ้งอย่างเดียว   โรค ASF เป็นเชื้อโรคที่ติดต่อหรือแพร่ระบาดจากการสัมผัสหมูที่ป่วยโดยตรง หรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง โรงเรือน ยานพาหนะ หรือเครื่องมือที่ปนเปื้อนเชื้ออยู่ รวมทั้ง การติดต่อจากการที่หมูกินเศษอาหารที่มีเชื้อไวรัสผสมอยู่ และจากเห็บที่เป็นพาหะโรคดังกล่าว ดังนั้น เชื้อโรคจึงมีโอกาสระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะฟาร์มเล็กๆ ที่ใช้เศษอาหารเลี้ยงหมู มีระบบการจัดการด้านความสะอาดไม่เคร่งครัดนัก   ไทย เป็นประเทศทำการเกษตร โรคระบาด ASF จึงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของผู้ที่อยู่ในวงการเลี้ยงสัตว์ของไทย การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโรค ASF ที่กำลังกระจายเกือบจะทั่วยุโรป รัสเซีย จีน ภายในเวลาอันรวดเร็ว และสร้างความเสียหายให้กับวงการหมูของรัสเซีย จีน และยุโรปไม่ใช่น้อย ถึงวันนี้ ฟาร์มหมูกว่า 100 แห่งใน 25 จังหวัดทั่วประเทศจีนติดโรคดังกล่าว ต้องทำลายสุกรไปแล้วเกือบ 1 ล้านตัว เพื่อป้องกันหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่งผลให้พื้นที่บางแห่งในจีนขาดแคลนเนื้อหมูบริโภค และทำให้ราคาหมูในจีนพุ่งสูงขึ้นมากตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา   หากในข่าวร้ายก็พอจะยังมีข่าวดีอยู่บ้าง ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก และกรมปศุสัตว์ต่างก็ออกมายืนยันสร้างความมั่นใจผู้บริโภคว่า โรค ASF ตัวนี้ ติดต่อแต่ในหมู ไม่ติดต่อกับมนุษย์ และไม่สร้างอันตรายใดๆ กับคน การระบาดในจีน ก็สร้างความเสียหายเฉพาะฟาร์มหมู แต่รายงานผลกระทบในคนเป็นศูนย์ ดังนั้น คนไทยรับประทานหมูในประเทศได้อย่างสบายใจ   ล่าสุด การระบาดเข้าสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ก็เป็นไปตามความคาดการณ์ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO จริงๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้ออกมายอมรับแล้วว่า พบโรค ASF ในฟาร์มหมู 3 แห่งในเมืองที่อยู่ใกล้กรุงฮานอย จนต้องทำลายหมูทิ้งไปกว่า 100 ตัวไปแล้ว   ข่าวนี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยตื่นตัวถึงความสำคัญของการป้องกันการระบาดของเชื้อโรคมิใช่น้อย เนื่องจาก เป็นโรคที่มีความรุนแรงมากในหมู แม้โรคระบาดตัวนี้จะไม่ติดต่อถึงคนและสัตว์ชนิดอื่น แต่อาจส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรอย่างมาก และลากยาวไปถึงภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงการขาดแคลนเนื้อสัตว์ภายในประเทศ   สำหรับประเทศไทยแม้จะยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าว แต่ความเสี่ยงที่มาจากความทันสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสารและการคมนาคม การเคลื่อนย้ายสิ่งที่เป็นพาหะ หรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อโรคข้ามประเทศเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การระบาดของโรคนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างที่ผ่านมามีตรวจพบการนำไส้กรอกที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ASF จากนักท่องเที่ยวจีนที่สนามบินจ.เชียงราย และจ.ภูเก็ต ดังนั้น การตื่นตัวของทุกภาคส่วนเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรค ASF สู่ฟาร์มหมูจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด   การดำเนินมาตรการต่างๆ ของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐ อย่าง กรมปศุสัตว์ ที่เป็นหน่วยงานหัวหอกในการประสานและบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกรไทย และ ภาคเอกชนอาทิ ซีพีเอฟ เบทาโกร เป็นต้น เพื่อยกระดับการป้องกันอย่างเข้มงวดและแน่นหนายิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเฝ้าระวังบริเวณด่านตรวจชายแดน พร้อมทั้งมีการจัดตั้งวอร์รูมเพื่อเตรียมรับมือกันอย่างเต็มที่ กับโรคที่ระบาดอย่างรวดเร็ว และไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เบื้องต้น ผู้ประกอบการและเกษตรกรเลี้ยงหมูต้องตระหนักและพร้อมใจให้ความร่วมมือที่จะต้องทำความสะอาดในทุกกระบวนการ การฆ่าเชื้อรถขนหมู เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ รวมถึง การไม่ใช้เศษอาหารมาใช้เลี้ยงหมู มาตรการที่เคร่งครัดขึ้นของทุกฟาร์มมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาติดต่อหมูในประเทศ   อย่างไรก็ตาม การตระหนักรู้ และจับมือกันเพื่อปกป้องการระบาดโรค ASF ในประเทศ เพื่อช่วยกันรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และด้านอาหารของบ้านเราเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และขอเอาใจช่วยให้ทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกันโดยเห็นประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง เพื่อให้เกษตรกรและวงการอุตสาหกรรมผู้เลี้ยงสุกรไทยรอดพ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้ ที่สำคัญ การตื่นตัวเป็นเรื่องที่ดี แต่ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก เพราะเจ้าเชื้อโรค ASF ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ผู้บริโภคคนไทยผู้ชื่นชอบเนื้อหมูสบายใจได้ รับประทานต่อได้ไม่ต้องกังวล