ข้าว กข43 ตลาดยังสดใส ชาวนาที่ปลูกในโครงการขายได้ราคาดี หลายหน่วยงานให้ความสนใจ คาดว่าตลาดจะไปได้สวย เมื่อวันที่ 25 ก.พ.62 นายประสงค์ ประไพตระกูล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานงานรณรงค์ส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ พันธุ์ กข43ว่า ในปัจจุบันต้องยอมรับว่ากระแสตื่นตัวการรักสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภค เน้นบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ปลอดจากสารพิษ และอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ณ จุดนี้เอง กรมการข้าวได้นำความต้องการเหล่านี้เป็นโจทย์ให้นักวิจัยได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้แนวนโยบายในการผลิตสินค้าเกษตร “ตลาดนำการผลิต” “ถ้าพูดกันง่ายๆ คือปลูกแล้วสามารถขายได้ราคา มีตลาดรองรับชัดเจน กรมการข้าวได้ให้แนวทางว่าจะส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวพันธุ์อะไรก็ต้องดูตลาดด้วย ปลูกแล้วขายได้หรือไม่ ข้าวพันธุ์ กข43 ก็เช่นกัน นักวิจัยของกรมการข้าวได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยข้าวสารพันธุ์ กข43 แล้วพบว่ามีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลางค่อนต่ำ (GI = 57.5) ต่ำกว่าข้าวนุ่มพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งหมายถึงข้าว กข43 เมื่อหุงสุกและรับประทาน จะทนต่อการย่อยได้ดีกว่า จึงผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าข้าวนุ่มพันธุ์อื่น จากผลการวิจัยดังกล่าวนำไปสู่การต่อยอดการผลิตและการตลาด จนเกิดผลิตภัณฑ์ข้าว กข43 เป็นที่ยอมรับอยู่ในปัจจุบัน และในปี 2562 นี้ กรมการข้าวเตรียมส่งตัวอย่างข้าวเพื่อสุขภาพ พันธุ์ กข43 ตรวจวิเคราะห์ค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic index หรือที่เรียกว่า GI) ที่ Sydney University Glycemic Index Research Service (SUGiRS) เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญการศึกษาค่าดัชนีน้ำตาลในระดับสากล ซึ่งมีห้องปฏิบัติการมาตรฐานกลางของประเทศออสเตรเลีย”นายประสงค์ กล่าว ด้าน นายวุฒิพงศ์ กะสินัง เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ พันธุ์ กข43 มาแล้ว 3 ฤดู ครอบคลุมพื้นที่ปลูก 5,800 ไร่ สามารถผลิตข้าวเปลือกได้จำนวน 3,700 ตัน และส่งมอบข้าวสารคุณภาพดี กข43 ให้กับผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพ ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง ภายใต้แบรนด์ “ข้าวอโยธยา” โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหลายภาคส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และชาวนากลุ่มนี้มีความมุ่งมั่นใส่ใจตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงมือผู้บริโภค โดยได้รับใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวเปลือก (GAP) จากกรมการข้าวด้วย