ดูท่าน่าจะเข้าทำนอง “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” ตามสำนวนไทยเข้าให้แล้ว สำหรับ การ “ประกาศภาวะฉุกเฉิน” ของ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา” เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ก่อน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ แถลงประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อนำงบประมาณด้านการทหารบางส่วน มาใช้เพื่อการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก เนื้อหาสาระสำคัญของ “ประกาศภาวะฉุกเฉิน” ข้างต้น ก็จะส่งผลให้ประธานาธิบดีทรัมป์ สามารถดึงงบประมาณด้านการทหาร โยกย้ายมาสร้าง “กำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก” แทน โดยอ้างเหตุผลที่ทำให้ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าวด้วยว่า เพื่อสกัดกั้นขบวนการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และการอพยพเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายโดยใช้เส้นทางช่องว่างระหว่างพรมแดนติดกับเม็กซิโก แดนจังโกนี้ เข้ามายังสหรัฐฯ จนกลายเป็น “วิกฤติ” ต้องทำให้เขาประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างที่เห็น มูลค่าเม็ดเงินก็ต้องบอกว่า มิใช่น้อย คือ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กันเลยทีเดียว มากกว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เคยร้องขอให้ “รัฐสภาสหรัฐฯ” หรือ “สภาคองเกรส” เปิดไฟเขียวอนุมัติแก่เขาก่อนหน้านั้นเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วที่จำนวน 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรียกว่ามากกว่าเก่าถึง 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในครั้งกระนั้นได้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารที่มีประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้นำ กับฝ่ายนิติบัญญัติ ภายใต้การนำของ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาคองเกรส สังกัดพรรคเดโมแครต คู่ปรับพรรครีพับลิกัน ที่นายทรัมป์สังกัด ถึงขนาดส่งผลให้ “รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ต้องปิดให้บริการ” หรือที่เรียกว่า “ชัตดาวน์” ซึ่งในครั้งนี้ ชัตดาวน์ยาวนานยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ คือ 35 วัน เมื่อช่วง ธ.ค. 2561 ข้ามปีถึง ม.ค. 2562 เลยทีเดียว ทั้งนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีขึ้น บรดานักวิเคราะห์หลายคนแสดงทรรศนะว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ “ เอาคืนอย่างสาสม” จากการที่ถูกพิษของ “ชัตดาวน์” เล่นงานมานานติดต่อกันถึงเดือนกว่า ทว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อโยกงบฯ ด้านการทหารมาใช้สร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก ตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์วาดหวัง ก็ต้องเจอกับพลังแรงต้าน ไม่ว่าจะเป็นแรงต้านจากทั้งทางภาครัฐ และภาคประชาชน ที่ต่างพากันรุมถล่มโจมตี ประชาชนชาวสหรัฐฯ ชุมนุมประท้วงต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ด้านหน้าทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยในภาคประชาชน ก็ได้แสดงออกถึงการส่งพลังแรงต้านผ่านกระบวนการแสดงความคิดเห็น หรือโพลล์ จากสำนักโพลล์ต่างๆ ไล่ไปตั้งแต่ “โพลิติโค” ร่วมกับ “มอร์นิง คอนซัลท์” สำรวจความคิดเห็นประชาชนคนอเมริกันแล้ว พบว่า ร้อยละ 51 ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ไม่สนับสนุนและต่อต้าน ต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อการข้างต้นของประธานาธิบดีทรัมป์ ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่สนับสนุนมีจำนวนร้อยละ 39 ผู้อพยพชาวเม็กซิโกครอบครัวหนึ่ง ลักลอบปีนรั้วข้ามพรมแดนเข้ามายังฝั่งสหรัฐฯ ด้านการสำรวจของ “ฮัฟฟิงตันโพสต์” ที่จับมือกับ “ยูกอฟ” ได้ผลโพลล์อออกมาว่า ร้อยละ 55 ไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีทรัมป์ที่ประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าว ขณะที่ ผู้เห็นด้วยมีจำนวนร้อยละ 37 ส่วนการสำรวจของ “เนชันแนล พับลิก เรดิโอ” ร่วมกับ “พีบีเอส นิวส์เฮาเออร์” และ “แมริสต์” ได้ผลโพลล์ที่ทิ้งห่างช่องว่างยิ่งกว่าใครๆ โดยพบถึงแรงคัดค้านถึงร้อยละ 61 หรือ 6 ใน 10 ของชาวอเมริกันเลยทีเดียว ที่ไม่เอาด้วยกับการประกาศภาวะฉุกเฉินของประธานาธิบดีทรัมป์ ขณะที่ ผู้เห็นดีเห็นงาม มีจำนวนเพียงร้อยละ 36 เท่านั้น ทางด้าน กระแสต้านจากภาครัฐ ปรากฏว่า บรรดารัฐต่างๆ ถึงจำนวน 16 รัฐ ในสหรัฐฯ จากจำนวนทั้งสิ้น ได้ยื่นต่อ “ศาล” กันเลยทีเดียว สำหรับการฟ้องร้องคัดค้านการประกาศภาวะฉุกเฉินของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเห็นว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งแม้แต่สมาชิกทั้งสภาล่าง และสภาสูง บางส่วนของรีพับลิกัน พรรคเดียวกันกับประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ยังไม่เห็นด้วยต่อภาวะฉุกเฉินที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศ สำหรับ การยื่นฟ้องร้องต่อศาล จาก 16 รัฐ ประกอบด้วย รัฐแคลิฟอร์เนีย โคโลราโด คอนเนตทิคัต เดลาแวร์ ฮาวาย อิลลินอยส์ เมน แมริแลนด์ มิชิแกน มินนิโซตา เนวาดา นิวเจอร์ซีย์ นิวเม็กซิโก นิวยอร์ก ออริกอน และเวอร์จิเนีย โดยมี “รัฐแคลิฟอร์เนีย” เป็น “ผู้นำ” ในการฟ้องร้อง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ไม่ยี่หระ โดยได้ออกมากล่าวย้ำว่า รู้อยู่แล้วว่า อย่างไรเสียคงจะถูกฟ้องร้องแน่ แต่เขาไม่กลัว จะขอสู้กันถึง “ศาลฎีกา” และก็เชื่อมั่นว่า จะได้รับชัยชนะในการสู้ศึกบนเวทีสมรภูมิ “ยุติธรรม” อย่างแน่นอน นอกจากจะสู้ตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังตอบโต้ต่อรัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยการเตรียมพิจารณาถอนงบประมาณสำหรับการสนับสนุนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีมูลค่า 928 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมยังหาหนทางให้รัฐที่เป็นตัวตั้งตัวตีการฟ้องร้อง ต้องคืนเงินจำนวน 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทางรัฐฯ ได้ใช้ไปในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวอีกต่างหากด้วย ภาพตกแต่งจำลองโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ต้องบอกว่า พิษแรงร้ายเหลือจริงๆ สำหรับ กำแพงขวางกั้นเขตแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโกตามนโยบายของนายทรัมป์ชุดนี้ ซึ่งเหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า น่าจะมีสัประยุทธ์กันต่อไปอีกหลายยกต้องจับจ้องดูความคืบหน้ากันต่อไปอย่างไม่กระพริบตา