สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ระบุ นักดาราศาสตร์ตรวจพบดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กของ #ดาวเนปจูนอีกหนึ่งดวงโดยบังเอิญ ทำให้ดาวเนปจูนมีดวงจันทร์บริวารที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วทั้งสิ้น 14 ดวง ดวงจันทร์ที่เพิ่งค้นพบถูกตั้งชื่อว่า ฮิปโปแคมป์ (Hippocamp) เป็นชื่อของสัตว์น้ำครึ่งม้าครึ่งปลา ที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลของเทพเจ้าเนปจูน (เทพเจ้าแห่งท้องทะเล) ตามตำนานกรีก-โรมัน เหมือนกับชื่อของดวงจันทร์บริวารดวงอื่นๆ ดวงจันทร์ฮิปโปแคมป์มีขนาดเล็กเพียง 31 กิโลเมตร และเคลื่อนที่ค่อนข้างเร็วรอบดาวเนปจูน จึงทำให้ทุกครั้งที่นักดาราศาสตร์ทำการถ่ายภาพดาวเนปจูนผ่านกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตเห็นเพียงรอยเปื้อนเล็ก ๆ บนภาพซึ่งสังเกตได้ยากและดูไม่มีความน่าสนใจ การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นจากทีมนักดาราศาสตร์ได้นำข้อมูลภาพเก่าจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่แต่ละภาพถ่ายเปิดหน้ากล้องนาน 5 นาที ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 มาศึกษาวิวัฒนาการวงแหวนของดาวเนปจูน แต่เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่มีรายละเอียดต่ำ นักดาราศาสตร์จึงใช้เทคนิคการประมวลผลภาพแบบใหม่ โดยทำการหมุนภาพดาวเนปจูนและดวงจันทร์บริวารแต่ละภาพให้มาอยู่ในแนวเดียวกัน จากนั้นรวมภาพแต่ละชุด ชุดละ 8 ภาพ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ข้อมูลภาพถ่ายแต่ละชุดมีรายละเอียดสูงขึ้น เสมือนกับการถ่ายภาพเปิดหน้ากล้องนาน 40 นาที เทคนิคดังกล่าว ทำให้นักดาราศาสตร์พบจุดเล็กๆ โผล่ขึ้นมาในภาพ เมื่อลองเปรียบเทียบกับชุดภาพอื่น ที่ใช้เทคนิคเดียวกันจะสังเกตเห็นจุดเล็กๆ โคจรรอบดาวเนปจูน และเมื่อทำการศึกษาองค์ประกอบอื่นเพื่อยืนยันเพิ่มเติม นักดาราศาสตร์จึงสามารถยืนยันและประกาศการค้นพบดวงจันทร์ดวงใหม่ของดาวเนปจูนได้ในที่สุด นักดาราศาสตร์สันนิษฐานการเกิดของดวงจันทร์ฮิปโปแคมป์เบื้องต้นว่า เนื่องจากดวงจันทร์ฮิปโปแคมป์มีวงโคจรใกล้กับวงโคจรของดวงจันทร์วงในของดาวเนปจูน จึงเป็นไปได้ว่าดวงจันทร์ฮิปโปแคมป์อาจเกิดจากการก่อตัวของเศษชิ้นส่วนที่หลุดจากดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่เคยถูกดาวหางพุ่งชนในอดีต อย่างไรก็ตาม แม้นักดาราศาสตร์จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าข้อมูลจากดวงจันทร์ดวงใหม่ของดาวเนปจูนนี้จะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางดาราศาสตร์ได้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเจนสำหรับการค้นพบดังกล่าว คือการพัฒนาเทคนิคการประมวลผลภาพถ่ายให้มีความละเอียดและประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งในอนาคต เทคนิคที่ถูกพัฒนาและได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องอาจนำมาสู่การค้นพบสิ่งใหม่ ๆ และกลายเป็นเทคโนโลยีคุณภาพสูงในชีวิตประจำวันต่อไป เรียบเรียบโดย : นายเจษฎา กีรติภารัตน์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ - สดร. อ้างอิง :  1.https://www.nature.com/articles/s41586-019-0909-9… 2.https://www.sciencealert.com/a-new-tiny-moon-has-been-found