ลานบ้านกลางเมือง "บูรพา โชติช่วง" องค์ความรู้ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" ราชประเพณีคู่สังคมไทย
ดังที่ได้ทราบกันทั่วแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องทำเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ จะมีขึ้นวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม 2562
เมื่อสืบค้นข้อมูลความเป็นมาพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หนังสือสมุดภาพกระทรวงวัฒนธรรม (2561) ได้กล่าวพระราชพิธีนี้มีมาแต่ครั้งโบราณราชประเพณีคู่สังคมไทยมายาวนานโดยได้รับอิทธิพลจากคติอินเดีย แต่ลักษณะการพระราชพิธีแต่เดิมมีแบบแผนรายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แม้แต่การเรียกชื่อพิธีแตกต่างกันออกไปในแต่ละสมัย เช่น ในสมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” ส่วนในปัจจุบันเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
สมัยสุโขทัยปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 2 หรือจารึกวัดศรีชุม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 กล่าวถึงการขึ้นเป็นผู้นำของพ่อขุนบางกลางหาว ไว้ว่า “...พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์...” ส่วนในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาไทย และภาษาเขมรกล่าวถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพิธีบรมราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ว่ามี มกุฎ พระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร
สมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคำให้การของชาวกรุงเก่า ข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงขั้นตอนของพระราชพิธีนี้ว่า
“...พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดให้เอาไม้มะเดื่อนั้น มาทำตั่งสำหรับประทับสรงพระกระยาสนานในการมงคล เช่น พระราชพิธีราชาภิเษก เป็นต้น พระองค์ย่อมประทับเหนือพระที่นั่งตั่งไม้มะเดื่อ สรงพระกระยาสนานก่อนแล้ว (จึงเสด็จไปประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ) มุขอำมาตย์ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ คือ มหามงกุฎ 1 พระแสงขรรค์ 1 พัดวาลวิชนี 1 ธารพระกร 1 ฉลองพระบาทคู่ 1...”
ในสมัยกรุงธนบุรีไม่ปรากฏหลักฐานการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สันนิษฐานว่าทำตามแบบอย่างเมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ทำอย่างสังเขป เพราะบ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย ยังอยู่ในภาวะสงคราม
ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูลเต็มตำรา ครั้น พ.ศ. 2326 โปรดให้ข้าราชการผู้รู้ครั้งกรุงเก่า มีเจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นประธาน ประชุมปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ทำการสอบสวนร่วมกันตรวจสอบตำราว่าด้วยการราชาภิเษกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงวัดประดู่ แล้วแต่งเรียบเรียงขึ้นไว้เป็นตำรา เรียกว่า “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” เป็นตำราเกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในประเทศไทย เมื่อได้แบบแผนการราชาภิเษกที่สมบูรณ์แล้ว
อีกทั้งพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จ ใน พ.ศ. 2328 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันได้เคยมีมาแต่เก่าก่อนอีกครั้งหนึ่ง
และแบบแผนการราชาภิเษกดังกล่าวได้รับการยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบมาเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ บางพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย , สมุดภาพกระทรวงวัฒนธรรม
จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม พราหมณ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย , สมุดภาพกระทรวงวัฒนธรรม