กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณจังหวัดจันทบุรีและบุรีรัมย์สำเร็จตามเป้าหมาย ด้านภาคเหนือยังคงติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะเร่งปฏิบัติการช่วยเหลือบริเวณพื้นที่ที่ประสบปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานทันที เมื่อวันที่ 17 ก.พ.62 นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ติดตามสภาพอากาศวันนี้ (17 ก.พ.62) จากสถานีเรดาร์สัตหีบ จังหวัดชลบุรี พบว่า ในช่วงเช้ามีความเหมาะสมที่จะปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีการร้องขอฝนให้กับพื้นที่การเกษตรปลูกทุเรียนที่กำลังประสบปัญหา ขาดแคลนน้ำ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยอง จึงได้ขึ้นบินปฏิบัติการในช่วงเช้าเพื่อโจมตี กลุ่มเมฆบริเวณพื้นที่อำเภอขลุง–อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี รวมถึงในช่วงบ่ายได้ขึ้นบินปฏิบัติการโจมตีอีกครั้งบริเวณพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน-อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี จึงทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณพื้นที่การเกษตรอำเภอขลุง เมืองจันทบุรี ท่าใหม่ มะขาม โป่งน้ำร้อน เขาคิชฌกูฏ สอยดาว และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำคีรีธาร จังหวัดจันทบุรี ด้านบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการติดตามคุณภาพอากาศในช่วงเช้าต่อเนื่องถึงในช่วงบ่าย พบว่า ค่าคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่จังหวัดเลย นครราชสีมา และขอนแก่น มีค่าฝุ่นละอองลดลงและอยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศปานกลาง กรมฝนหลวงฯ จึงพิจารณาเปลี่ยนพื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติการเป็นพื้นที่ไร่อ้อย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจริญเติบโตและมีการปลูกใหม่ โดยได้รับการร้องขอฝนจากสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดบุรีรัมย์ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดขอนแก่น จึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการโจมตีกลุ่มเมฆบริเวณอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์-อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ในเวลา 15.00 น. ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา ตามเป้าหมายสำเร็จ อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ทางภาคเหนือที่ยังมีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เกินค่ามาตรฐานบริเวณจังหวัดตาก เชียงใหม่ ลำปาง และที่อยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพบริเวณจังหวัดลำพูน กรมฝนหลวงฯ ได้ติดตามสภาพอากาศและปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 1 (ก่อกวน) ในพื้นที่เป้าหมายแล้วพบว่า ลมชั้นบนมีกำลังค่อนข้างแรง จึงทำให้กลุ่มเมฆไม่สามารถพัฒนาตัวเป็นฝนได้ ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มเมฆบริเวณดังกล่าวที่ไหลเข้าไปในพื้นที่เป้าหมาย จะสามารถช่วยดูดซับค่าฝุ่นละอองในอากาศได้และคลี่คลายสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานลง ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงฯ จะติดตามสภาพอากาศและคุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะเร่งปฏิบัติการช่วยเหลือบริเวณพื้นที่ที่ประสบปัญหาทันที