รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล ผมเล่าไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว ว่าดนตรี Exotic ในช่วง ค.ศ. 1600 ของชาวตะวันตก ยังไม่ปรากฏลักษณะท่วงทำนองต่างชาติ แต่จะมีความ Exotic ด้วย “เนื้อหา” ของเรื่องเป็นหลัก แต่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เราเริ่มพบความพยายามของนักแต่งเพลงชาวตะวันตก ที่จะหยิบยืม หรือเลียนแบบ นำ “ทำนองเพลง” ของชาวต่างชาติมาใช้ (แม้ว่านั่นอาจเป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกจินตนาการขึ้นมาเองก็ตาม) และร่องรอยของต่างชาติที่สำแดงความ Exotic ออกมาในทำนองเพลงเป็นชาติแรก ก็คือชาติตุรกี หรือ ชาวเติร์ก แต่ชาติตุรกีนี้ก็ไม่ได้หมายถึงแค่คนในดินแดนตุรกี แต่หมายรวมๆ ถึงชนชาติอาหรับ ผู้นับถือพระอัลเลาะห์ ซึ่งในเวลานั้นย่อมหมายถึงชาวมุสลิมแห่งจักรวรรดิอ็อตโตมันนั่นเอง ในประวัติศาสตร์การสงคราม ยุโรป โดยเฉพาะแคว้นเวนิซ ต้องปะทะกับจักรวรรดิอ็อตโตมันหลายต่อหลายครั้ง ในสงครามแย่งชิงกันควบคุมการค้าในเกาะและท่าเรือหลายแห่งในทะเลเมดิเตอเรเนียน และจักรวรรดิอ็อตโตมันก็ขยายดินแดนล้ำเข้าไปในยุโรป ทั้งทางกรีกลามเข้าไปจนถึงทางเหนือในเขตคาบสมุทรบอลข่าน ชาวเติร์กแห่งอ็อตโตมันเคยบุกตะลุยเข้าไปถึงกรุงเวนิซครั้งแรกในปี ค.ศ. 1529 และครั้งที่สองในปี 1683 ก่อนที่จะถูกกองทัพของชาวยุโรป ทั้งจากราชวงศ์ฮับสบูร์ก และจากชาวโปล และอื่นๆ รวมตัวกันขับไล่ออกไป ชาวยุโรปจึงมีภาพจำหรือจินตนาการเกี่ยวกับกองทัพชาวเติร์กปรากฏอยู่ทั่วไป ทั้งในงานจิตรกรรม และงานเขียนอื่นๆ ทั้งบทละครและโอเปร่า ตัวอย่างเช่น ในโอเปร่าของลุลลี (Jean Baptist Lully) ชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1670 เรื่อง Le bourgeois gentilhomme เป็นเรื่องชวนหัวที่เล่าเรื่องการปลอมตัวเป็นชาวเติร์กของคนฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่ง มีการใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเลียนแบบชาวเติร์ก ส่วนของดนตรีก็มีการใช้เพลงมาร์ชเดินทัพของชาวเติร์กที่เอะอะหนวกหู และร้องทำนองสรรเสริญพระเจ้าด้วยโน้ตตัวเดียวซ้ำๆ กัน อันแสดงถึงความด้อยกว่า ความไม่ซับซ้อน และหยาบกระด้างของดนตรีชาวเติร์ก จากนั้น ความนิยมเรื่อง Exotic แบบชาวเติร์กก็แพร่กระจายไปทั่วยุโรป โดยหลังจากการปะทะทางการทหารและการเจรจาทางการทูตระหว่างจักรวรรดิอ็อตโตมันกับออสเตรีย-ฮังการี ก็ปรากฏโอเปร่าเยอรมันหลายเรื่องที่ใช้เนื้อหาเป็นเรื่องราว Exotic ของชาวเติร์ก โดยในจำนวนนี้ ที่ได้รับความนิยมและโด่งดังที่สุดจนกระทั่งปัจจุบัน ก็คือเรื่อง Die Entfuhrung aus dem Serail ของ โมซาร์ต (แต่งในปี ค.ศ. 1782) ชื่อเรื่องแปลตรงตัวว่า “พาหนีจากฮาเร็ม” เป็นเรื่องราวที่เล่าถึงตัวโกงชาวเติร์กผู้ชั่วร้าย เมาสุราเป็นนิจ และชอบขืนใจผู้หญิง กับวีรบุรุษผิวขาวชาวตะวันตก ที่ลักลอบเข้าไปช่วยหญิงสาวที่ตนรักออกจากฮาเร็มของสุลต่านด้วยความชาญฉลาด อย่างไรก็ตาม ดนตรีที่โมซาร์ตเขียนขึ้นในโอเปร่าเรื่องนี้ ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้มีส่วนใกล้เคียงกับดนตรีของชาวเติร์กเลยแม้แต่น้อย และที่จริงแล้ว “ดนตรีของชาวเติร์ก” ในมือของนักแต่งเพลงชาวยุโรป ก็มีรูปลักษณะเฉพาะของตนเอง ที่พวกเขาร่วมกันสร้างและส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “เสียงแบบชาวเติร์ก” ในความรับรู้ของชาวยุโรปไปโดยปริยาย ในหนังสือ Musical Exoticism ของ Ralph P. Locke มีการวิเคราะห์บุคลิกเสียงดนตรี “แบบชาวเติร์ก” ของนักแต่งเพลงชาวยุโรปในสมัยนั้นไว้อย่างละเอียดเชิงเทคนิค เป็นจำนวนถึง 17 ข้อ ตัวอย่างเช่น ข้อ (1) เพลงเหล่านี้มักอยู่ในบันไดเสียงที่ง่ายๆ เช่น A minor ข้อ (2) ใช้การเรียบเรียงที่เรียบง่ายพื้นฐานที่สุด ข้อ (5) มีการใช้โน้ตเดียวซ้ำๆ กันบ่อย ข้อ (13) ใช้เครื่องเคาะประเภทกลองใหญ่ ฉาบ เล่นด้วยเสียงดังๆ เข้าไว้ ฯลฯ และอีกหลายข้อที่อาจเป็นเรื่องเชิงเทคนิคเกินกว่าจะนำมาอธิบายในที่นี้ แต่โดยรวมๆ แล้ว Ralph P. Locke กล่าวว่า “สำเนียงดนตรีเติร์ก” นั้นมีอยู่จริง แต่เป็นสำเนียงที่ได้รับการสร้างขึ้นมาโดยชาวยุโรปเองล้วนๆ และสรุปสั้นๆ ได้ว่า เสียงแบบชาวเติร์กในมุมมองของนักแต่งเพลงยุโรปนั้น หาใช่อะไรอื่นไม่ แต่เป็นเสียงดนตรีในแบบยุโรปเองที่มีลักษณะด้อย แปลกประหลาด ไม่สมดุล ทั้งในเรื่องของโครงสร้าง และ สไตล์เพลง ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อนำเสนอภาพของชาวเติร์กที่ต้อยต่ำกว่าชาวยุโรปนั่นเอง