ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง ภาพจังหวัดระยองปัจจุบัน เรามักนึกถึงที่พักตากอากาศกับโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนภาพระยองที่ยังมีเค้าโครงของอาชีพดั้งเดิมอยู่ ประมง สวนผลไม้ ทำไร่มันสำปะหลัง ซึ่งอย่างหลังนี้พอจะมีให้เห็นอยู่บ้างตามริมทางถนนหลวง แต่ถูกกลืนด้วยสวนยางพาราเข้ามาแทนพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ทว่าภาพนาข้าว ดูจะเลือนหายไป ! ระยองในอดีตมีนาข้าว เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนหรือก่อนหน้ากว่านั้น ผู้ที่เดินทางถนนหลวงสายเก่า คงจะนึกภาพผืนนาข้าวเขียวขจีริมทางถนนก่อนเข้าตัวเมืองระยอง แต่ผืนนาที่ว่า ค่อยๆ ถูกแปรสภาพเป็นหมู่บ้านจัดสรร ด้วยเพราะการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก และจากชายฝั่งลึกเข้าไปของแผ่นดินตามท้องที่ตำบล อำเภอ เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม จึงต้องมีหมู่บ้านจัดสรร บ้านเช่า รองรับแรงงานต่างถิ่นและต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาทำงานเขตชานเมืองระยอง โดยเฉพาะเมืองมาบตาพุด ดาษดื่นไปด้วยโรงงานต่างๆ ทุกวันนี้แรงงานทั่วทุกสารทิศ ไม่มีใครไม่รู้จักเมืองมาบตาพุด ผิดแต่ก่อน ถ้าเอ่ยถึงมาบตาพุด น้อยคนนักที่จะรู้จัก ด้วยในอดีตเป็นเพียงแค่ตำบลเล็กๆ ของอำเภอเมืองจังหวัดระยอง ชีวิตของคนพื้นที่ถ้าไม่ทำมาค้าขาย ก็ทำสวนทำไร่ หรือมีที่นาก็ปลูกข้าวกินและขาย ทว่ายี่สิบปีหลัง ภาพผืนนาข้าวค่อยๆ หายไป แปรสภาพที่นาเป็นอย่างอื่น แต่แล้วคิดไม่ถึงว่ายังมีนาข้าวในเขตมาบตาพุดให้ได้เห็นอยู่ ที่นั่นก็คือ ชุมชนเกาะกก จากคำบอกของคุณกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นำข้าราชการหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพนักบริหารงานวัฒนธรรมมืออาชีพ ไปดูชุมชนเกาะกกทำนาข้าวในวิถีเกษตรพอเพียง เมื่อไปเห็นแล้วก็ไม่น่าเชื่อว่ายังมีผืนนากว่า 15 ไร่ อยู่กลางแวดล้อมหมู่บ้านจัดสรร ชุมชนเกาะกกนี้อยู่ลึกเข้าไปจากถนนหลวงสายเก่า ซึ่งชุมชนนี้จากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น แต่เดิมเป็นชุมชนเกาะกก-หนองแตง ขึ้นกับท้องที่ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง แต่ช่วงหกปีมานี่ได้แยกชุมชนเกาะกกและอีกหลายหมู่บ้านมาขึ้นตรงกับเทศบาลเมืองมาบตาพุด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในความเป็นสาแหรกและเครือญาติชุมชนยังไปมาหาสู่เหมือนเช่นเดิม เพราะแค่ราชการแบ่งเขตการบริหารจัดการดูแลชุมชน ขณะที่คนต่างถิ่นที่เข้ามาตั้งรกรากอาศัยกลมกลืนไปกับวิถีชุมชน แลเห็นได้ในการทำกิจกรรม “ลงแขก” เกี่ยวข้าว คนในพื้นที่และชุมชนละแวกใกล้เคียงมาช่วยกัน และผู้มาร่วมงานร่วมลงเกี่ยวข้าว “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” รวงข้าวเหลืองอร่ามทั่วท้องนา 15 ไร่ สำราญ ทิพย์บรรพต ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก เล่าว่า ชุมชนเกาะกกถือเป็นชุมชนเมืองในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่แยกตัวออกมาตั้งเป็นชุมชนใหม่ ปัจจุบันมีประชากรรวมกันกว่า 1,000 คน หรือราว 500 ครัวเรือน ซึ่งได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่และผู้ใหญ่รักความเป็นวิถีเกษตร ตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเกิดไอเดียที่อยากจะอนุรักษ์ประเพณีลงแขกดำนาของชุมชนในอดีต ผืนนาแปลงสุดท้ายท่ามกลางความเจริญอุตสาหกรรม จากจุดเริ่มของการรักษาแปลงนาผืนสุดท้ายแล้ว นำมาสู่การปลูกข้าวคุณภาพเพื่อเลี้ยงชุมชน ซึ่งพื้นที่บางส่วนเป็นที่ลุ่ม อยู่ติดคลองมีน้ำไหลผ่านชุมชน จึงเหมาะแก่การเพาะปลูก ในผืนนาจึงมีปลูกข้าวหลายชนิด อาทิ ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ ข้าวกล้องหอมนิล ข้าวกล้องสังข์หยด ข้าวหอมมะลิ ซึ่งสายพันธุ์ข้าวกล้องต่างๆ เหล่านี้ ชุมชนได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำมาปลูกในพื้นที่ ได้ผลผลิตดี ราคางาม อีกทั้ง “ต้นทุน” การนำข้าวเปลือกมาเป็นเมล็ดข้าว มีต้นทุนน้อย ด้วยคนในชุมชนมาช่วยกันสีข้าว นำมาบรรจุถุงจำหน่ายในร้านค้าของกลุ่มในชุมชน “จากข้าวกล้องสุขภาพของชุมชนเกาะกกยังต่อยอดออกไปอีกขั้น มาเป็นขนมยามว่าง ข้าวไรช์เบอรี่ สแนคบาร์ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการจำหน่ายข้าว ในขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ข้าวต่างๆ ยังส่งจำหน่ายที่มูลนิธิชัยพัฒนา และศูนย์การค้าต่างๆ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนเป็นอย่างมาก” นอกจากปลื้มผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องของดีชุมชนเกาะกกแล้ว สำราญ ประธานกลุ่มฯ ยังมองไปข้างหน้าอีกว่า “ชุมชนเกาะกกตั้งเป้าหมายจะขยายเครือข่ายพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มอีกกว่า 140 ไร่ อีกทั้งยังคงอนุรักษ์ประเพณีลงแขกดำนาเกี่ยวข้าว และรักษาวัฒนธรรมงานบุญประเพณีของชุมชน ที่เป็นการรวมตัวของคนจากหลายภูมิภาคให้สืบสานด้วย” แน่หล่ะ ผืนนาที่อยู่ในท่ามกลางความเจริญอุตสาหกรรมและหมู่บ้านจัดสรร ราคาที่ดินย่อมงาม หลักละหลายล้านบาทต่อไร่ ซึ่งผืนนาในหลายพื้นที่ของมาบตาพุดและชานเมืองระยองถูกแปรสภาพไปตามดังกล่าว แต่กับชุมชนเกาะกกยังคงรักษาผืนนาไว้ ทำนาปลูกข้าวกินเองเหมือนเช่นในอดีต จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “ชาวนากลุ่มสุดท้าย กับนาผืนสุดท้ายที่มาบตาพุด” ยังคงหลงเหลืออยู่ให้ลูกหลานชาวมาบตาพุดและคนทั่วไปที่มาเยือนได้รับรู้ ชุมชนเกาะกก ในวิถีแปลงนาข้าว ผืนสุดท้ายมาบตาพุด