อีกหนึ่งในโรคของทารกและเด็กเล็ก สมองพิการ (ซี.พี.) ย่อจาก Cerebral Palsy (CP) โรคนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สมองพิการเป็นกลุ่มอาการในผู้ป่วยเด็กที่มีความพิการของสมอง เกิดจากสิ่งต่างๆ ที่มากระทบสมองในช่วงเจริญเติบโตในช่วงวัยเด็ก ส่งผลให้การเคลื่อนไหวและการทรงตัวผิดปกติ และอาจมีความผิดปกติของสมองด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การมองเห็น ได้ยิน เรียนรู้ สติปัญญา และโรคลมชัก เป็นต้น ส่วนใหญ่พ่อแม่มักพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ปี สังเกตจากพัฒนาการ นั่ง คลาน เกาะยืน ที่ล่าช้ากว่าอายุ เกร็งแขนขาทั้งสองข้างหรือซีกใดซีกหนึ่ง เดินไม่ตรง เดินเซ หรือพบมือข้างที่ถนัดเร็วกว่าอายุ 1 ปีครึ่ง เมื่อสังเกตพบความผิดปกติจำเป็นต้องเข้ารับคำปรึกษาโดยตรง โดยกุมารแพทย์ทางระบบประสาทเพื่อให้ตรวจเพิ่มเติมอย่างถูกต้อง พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า สมองพิการ (ซี.พี.) ในเด็กมีปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน เอดส์ มารดาได้รับสารพิษ ตะกั่ว ปรอทความผิดปกติของสมองโดยกำเนิด คลอดก่อนกำหนด หรือภาวะสมองเด็กขาดออกซิเจน การติดเชื้อในสมอง เป็นต้น หลังได้รับการวินิจฉัยโรคสมองพิการ (ซี.พี.) การรักษาจะทำเป็นระบบครอบคลุมองค์รวมทุกด้าน เช่น กายภาพบำบัด เพื่อปรับความตึงตัวของกล้ามเนื้อป้องกันการผิดรูปของข้อ พร้อมทั้งรักษาด้วยกิจกรรมบำบัด เพื่อฝึกทักษะใช้มือทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ยากิน หรือ ยาฉีดเฉพาะที่เพื่อลดความเกร็งของกล้ามเนื้อ และรักษาโดยผ่าตัดในกรณีกระดูกผิดรูป พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้เด็กได้ฝึกช่วยเหลือตัวเองขยับ แขน ขา มือ กระตุ้น ให้เด็กได้เรียนรู้ ทั้งการเล่น การเคลื่อนไหว การออกเสียง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือป้องกันสาเหตุ ลดปัจจัยเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดภาวะสมองพิการในเด็ก (ซี.พี.) หากบุตรหลานมีภาวะเสี่ยงสงสัยภาวะสมองพิการ ควรรีบพามาตรวจคัดกรองกับกุมารแพทย์ เพราะการได้รับความรักและเอาใจใส่บวกกับดูแลที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก ทำให้เด็กสมองพิการ (ซี.พี.) มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้เมื่อเทียบกับการรักษาเมื่ออายุมาก แต่ทั้งนี้ ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรคด้วย