ร่วมสมัยหยิบหนังสือ"เรื่องเล่าขานผ่านฮูปแต้ม"งานเขียนของ อ.อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย ชื่อ อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย (บ้านเรียนน้ำริน) เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงหนังสือเกี่ยวกับวิถีชาวอีสานกับฮูบแต้ม เช่น “ซ่อนไว้ในสิม : ก-อ ในชีวิตอีสาน” เล่มนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศสารคดีภูมิปัญญา นอกจากนี้มีเรื่อง “ผ่อผนัง ฟังนิทาน”, “พุทธประวัติ ฉบับจิตรกรรม” ฯ ล้วนแล้วตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว หนังสือ “เรื่องเล่าขานผ่านฮูปแต้ม” เป็นเล่มล่าสุด (พ.ย. 61) ฮูปแต้ม คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์ วิหาร เป็นงานจิตรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ชาวอีสานเรียกภาพจิตรกรรมฝาผนังว่า “ฮูปแต้ม” และเรียกโบสถ์ว่า “สิม” คำว่าสิม มาจากคำว่า สีมา หรือ เสมา ซึ่งมีหลายแบบ แต่ที่ยังหลงเหลือให้เป็นอยู่ส่วนใหญ่เป็นสิมที่ก่อด้วยอิฐดิบ หรืออิฐเผาฉาบปูน มีสิมโถงหรือสิมโปร่ง (อายุประมาณ 200-250ปี) และสิมก่อผนังหรือสิมทึบ (อายุประมาณ 100-200 ปี) ส่วนฮูปแต้มมักอยู่ด้านนอกและด้านในสิม ช่างแต้มจะบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวอีสาน เรื่องราวที่นิยมเขียนมากที่สุด จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา เนื้อหาในหนังสือรวบรวมเรื่องเล่าขานผ่านฮูปแต้มทั้งหมด 6 เรื่อง ได้แก่ ผะเหวด, สินไซ, สุริวงศ์, ผาแดง นางไอ่, ขูลู นางอั้ว และพระติ้ว พร้อมภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดต่างๆ ในภาคอีสาน ยกมาสังเขป ผะเหวด เป็นชื่อเรียกพระเวสสันดรตามสำเนียงอีสาน (ผะเหวดสั่นด้อน) เป็นเรื่องราวการทำทานบารมีอันยิ่งใหญ่ ซึ่งตรงกับคติของชาวอีสานที่ยึดถือในเรื่องการให้การแบ่งปัน งานบุญผะเหวดจึงเป็นประเพณีสำคัญของชาวอีสานที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน, ส่วน สินไซ นั้นเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่นิยมนำมาวาดเป็นฮูปแต้มรองจากผะเหวด, สุริวงศ์ เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นของชาวไท-ลาว, ผาแดง นางไอ่ เป็นโศกนาฏกรรมความรักที่รู้จักแพร่หลายในวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน จนปัจจุบันจะเห็นได้จากขบวนแห่บั้งไฟของหลายหมู่บ้านที่มีการแต่งตัวเป็นท้าวผาแดงและนางไอ่, ขูลู นางอั้ว เป็นตำนานความรักอมตะของชาวอีสาน บางคนเรียกว่า โรเมโอ จูเลียต ฉบับอีสาน ปิดท้ายด้วยตำนาน พระติ้ว เขียนอยู่ในวิหารพระติ้วพระเทียม วัดโอกาสศรีบัวบาน จ.นครพนม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของอาณาจักรศรีโคราบูร ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณที่ยิ่งใหญ่ เรื่องเล่าผ่านฮูปแต้มทั้ง 6 เรื่องในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องเล่าที่สำคัญของชาวอีสานที่คนรุ่นใหม่ควรศึกษา เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้คงอยู่สืบไป หาอ่านและซื้อ (เล่มละ 150 บาท) ได้ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกสาขาและร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ดูวิถีชาวอีสานเรื่องเล่าขานผ่านฮูปแต้ม