เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เวลา 02:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) นาซาแถลงภารกิจสำรวจดาวอังคารออพพอร์ทูนิตีได้จบสิ้นลงแล้ว ปิดฉาก 15 ปีแห่งการสำรวจที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง #ยานออพพอร์ทูนิตี (Opportunity) เป็นยานสำรวจภาคพื้นประเภทโรเวอร์ (Rover) ขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ถูกส่งไปสำรวจดาวอังคารตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2546 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาหลักฐานการมีอยู่ของน้ำบนดาวอังคารในอดีต ด้วยสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นสีแดงจากสนิมเหล็ก ทีมออกแบบคาดว่า ยานจะมีระยะเวลาการทำงานบนดาวอังคาร 90 วันเท่านั้น และเคลื่อนที่ได้ไม่เกิน 1,000 เมตร แต่ปัจจุบันยานออพพอร์ทูนิตีทำงานมาแล้วเป็นเวลากว่า 5,351 วันบนดาวอังคาร หรือประมาณ 15 ปีบนโลก และเดินทางเป็นระยะทางกว่า 45 กิโลเมตร ขึ้นแท่นยานสำรวจมาราธอนที่เดินทางบนพื้นผิวดาวอังคารไกลที่สุด ที่ผ่านมา ฝุ่นที่ปกคลุมแผงโซลาร์เซลล์จะสะสมขึ้นเรื่อย ๆ และถูกปัดเป่าออกไปตามฤดูกาลบนดาวอังคาร กระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา เกิดพายุฝุ่นขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของดาวอังคาร พัดถล่มยานสำรวจลำนี้ ฝุ่นที่หนาไม่เพียงปกคลุมแผงโซลาร์เซลล์ แต่ยังปกคลุมทั่วทั้งท้องฟ้า ทำให้ยานขาดแหล่งพลังงาน และขาดการติดต่อกับโลกตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายนเป็นต้นมา “Perseverance Valley” คือชื่อตำแหน่งที่ยานออพพอร์ทูนิตีถูกพายุถล่ม เป็นเวลากว่า 8 เดือน ที่องค์การนาซาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ยานกลับมาตอบสนองอีกครั้ง ชุดคำสั่งกู้ระบบกว่า 1,000 คำสั่งถูกส่งไปกระตุ้นยาน แต่ก็ไร้ซึ่งการตอบสนองใด ๆ จนล่าสุดองค์การนาซาตัดสินใจ จบสิ้นภารกิจยานออพพอร์ทูนิตีลงในวันนี้ #ยานออพพอร์ทูนิตี ปฏิบัติภารกิจได้เกินความคาดหมายของทีมนักวิจัยไว้อย่างมาก ทั้งผลการค้นพบต่าง ๆ สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับดาวอังคารมากมายที่เป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับยานสำรวจรุ่นหลัง “หุบเขาแห่งความบากบั่น” (Perseverance Valley) จึงเหมาะสมแล้วที่จะเป็นสถานที่สุดท้ายของยานสำรวจอายุ 15 ปีลำนี้ #ThanksOppy ปัจจุบันบนพื้นผิวดาวอังคารมียานที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ ได้แก่#ยานInSight ที่เพิ่งจะเริ่มตรวจวัดค่าทางวิทยาศาสตร์ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และ #ยานคิวริออซิตี ที่สำรวจดาวอังคารมา 6 ปีแล้ว และในปีหน้านาซาจะส่งยาน Mars 2020 Rover ไปสมทบในการสำรวจดาวอังคาร เพื่อเตรียมพร้อมส่งมนุษย์คนแรกไปดาวอังคารในอนาคต อ้างอิง : [1] https://www.nasa.gov/…/nasas-record-setting-opportunity-rov… [2] https://mars.nasa.gov/…/highlights/why-have-the-rovers-las…/ เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.