การดูแลรักษารถยนต์ สำหรับ บางคนคงเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เพราะเคยผ่าน หรือมีประสบการณ์กันมาบ้างแล้ว แต่กับบางคนที่ขับเป็นอย่างเดียว เรื่องการดูแลรักษาก็อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ไม่คุ้นชิน และทำอะไรไม่ถูก ทำไม่เป็น ซึ่งเรื่องแบบนี้สามารถฝึก หรือเรียนรู้กันได้ไม่ยาก หากทำบ่อยๆ ก็จะคุ้นชิน และจดจำไปได้เอง        สำหรับ เรื่องในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่คนมีรถจำเป็นที่จะต้องรู้ในเบื้องต้น เพื่อนำไปใช้ดูแลรักษารถยนต์ให้มีสมรรถภาพสมบูรณ์ มีอายุในการใช้งานยาวนาน และมีความปลอดภัยขณะขับขี่        สิ่งจำเป็นที่คุณควรรู้ และตรวจเช็กเกี่ยวกับรถยนต์เบื้องต้นมีอยู่ 5 ข้อ ดังนี้    1. เช็กน้ำมันเครื่อง ตรวจดูอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และสังเกตดูว่าระดับน้ำมันเครื่องอยู่ในเกณ์ปกติหรือไม่ เพราะหากระดับต่ำ หรือสูงกว่ากำหนด เครื่องจะมีปัญหา นอกจากนี้ควรตรวจดูด้วยว่า มีรอยรั่วซึมจากปั๊มเพาเวอร์ ฝาครอบวาล์ว และจานจ่ายหรือไม่      ขั้นตอนการตรวจเช็กน้ำมันเครื่อง      1.1 จอดรถในพื้นที่ราบเรียบ แล้วสตาร์ทเครื่องยนต์ และรอให้เครื่องยนต์ทำงานจนถึงระดับอุณหภูมิทำงาน จึงค่อยดับเครื่องยนต์ (ติดเครื่องทิ้งไว้ประมาณ 5 – 10 นาที)      1.2 หลังจากดับเครื่องยนต์ 2 – 5 นาที จึงค่อยดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องขึ้นมา แล้วเช็ดออก      1.3 ใส่ก้านวัดน้ำมันเครื่องกลับไปที่เดิม แล้วดึงออกมาอีกครั้งเพื่อตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องที่ปลายก้าน      1.4 ดูระดับน้ำมันเครื่องว่าอยู่ระหว่าง F กับ L หรือระหว่างขีดบนกับขีดล่างหรือไม่ ถ้าอยู่ระหว่างนี้แปลว่าระดับน้ำมันเครื่องปกติ    2. เช็กน้ำมันเกียร์ ควรตรวจเช็กอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หรือถ้าไม่มีเวลาก็เดือนละครั้ง เพราะหากปล่อยให้น้ำมันเกียร์แห้งจนเกียร์พัง คุณจะร้องไม่ออก โดนค่าซ่อมบานตะไทแน่นอน      ขั้นตอนการตรวจเช็กน้ำมันเกียร์      2.1 จอดรถในพื้นที่ราบเรียบ และดึงเบรกมือเพื่อป้องกันรถเคลื่อน หรืออันตราย      2.2 เหยียบเบรกค้างไว้ แล้วจึงค่อยเลื่อนเกียร์จากตำแหน่ง P มายังตำแหน่ง R แล้วค้างไว้ประมาณ 5 วินาที จากนั้นจึงเลื่อนลงมาทีละเกียร์ และค้างไว้เกียร์ละ 5 วินาที จนครบทุกเกียร์ แล้วจึงค่อยเลื่อนกลับมาที่เกียร์ P ดังเดิม      2.3 เปิดฝากระโปรง โดยไม่ต้องดับเครื่องยนต์ และปล่อยให้เครื่องเดินเบาอีกประมาณ 2 นาที แล้วชักก้านวัดน้ำมันเกียร์ออกมา แล้วเช็ดด้วยผ้าสะอาด จากนั้นให้เสียบกลับลงไปให้สุดแล้วดึงออกมาทันที      2.4 ระดับน้ำมันเกียร์ปกติ ต้องอยู่ในช่วงระหว่างคำว่า HOT แต่หากน้ำมันเกียร์ต่ำ หรือเกิน ให้นำรถเข้าอู่ทันที แล้วทำการตรวจเช็กแบบละเอียด ไม่เช่นนั้นเกียร์อาจมีปัญหาได้    3. เช็กน้ำมันเบรก ระดับของน้ำมันเบรกควรอยู่ระหว่างขีด MIN กับ MAX ถ้าจะให้ดีที่สุด ควรแตะระดับ MAX ไปเลย ที่สำคัญอย่าปล่อยให้น้ำมันเบรกขาด หรือแห้งเด็ดขาด เพราะนอกจากระบบเบรกจะเสียแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตขณะขับขี่อีกด้วย และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกทุกๆ 25,000 กิโลเมตร      ขั้นตอนการตรวจเช็กน้ำมันเบรก      3.1 ใช้น้ำมันเบรกยี่ห้อ และรุ่นเดิมในการเติม หากไม่ทราบให้ดูที่คู่มือรถ หรือสอบถามศูนย์บริการของรถยนต์ยี่ห้อนั้นๆ      3.2 จัดการเปิดฝากระปุกน้ำมันเบรก แล้วเทลงไปจนถึงเส้นไข่ปลา หรือขีด MAX จากนั้นปิดฝากระปุกน้ำมันเบรกให้เรียบร้อย      (***ข้อควรระวัง อย่าให้น้ำมันเบรกโดนสีรถเด็ดขาด เพราะมันสามารถทำลายสีรถได้)    4. เช็กน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ ควรตรวจเช็กอย่างน้อยเดือนละครั้ง และสามารถเช็กได้ในขณะที่เครื่องยังเย็นอยู่ นอกจากนี้ระดับน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ที่ถูกต้อง ควรอยู่ระหว่างขีดบน MAX และ ขีดล่าง MIN (สามารถดูได้ที่ด้านข้างของกระปุกน้ำมัน) ไม่ควรเติมเกินขีดบนสุด และไม่ควรปล่อยให้น้ำมันต่ำกว่าขีดล่างสุด ไม่งั้นอาจทำให้ระบบเพาเวอร์พัง หรือเสียหายได้      ขั้นตอนการตรวจเช็กน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์      4.1 ใช้น้ำมันที่มีมาตรฐาน หรือเลือกใช้ยี่ห้อ และรุ่นเดิมในการเติม      4.2 เปิดฝากระปุกน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ แล้วค่อยๆ เทน้ำมันลงไปช้าๆ ระวังอย่าให้น้ำมันหก หรือถ้าหก ให้รีบทำความสะอาดทันที เพื่อป้องกันความเสียหายของชิ้นส่วนเครื่องยนต์อันอื่นๆ      4.3 เทเติมให้ถึงระดับที่กำหนด (ขีด MAX) แล้วจัดการปิดฝากระปุกน้ำพวงมาลัยเพาเวอร์ให้เรียบร้อย      (***หากพบว่าระดับน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ลดต่ำลงบ่อยๆ ผิดปกติ อาจเป็นเพราะมีรอยรั่วในระบบ ให้รีบนำรถเข้าไปตรวจสอบที่อู่ หรือศูนย์บริการทันที)     5. เช็กน้ำมันคลัทช์ ตรวจดูว่าน้ำมันต่ำกว่าขีดที่กำหนดหรือไม่ และระดับน้ำมันคลัตท์ควรอยู่ที่ระดับ MAX เท่านั้น หากพบว่าระดับน้ำมันลดต่ำลง ให้รีบนำรถเข้าอู่ หรือศูนย์บริการทันที         ทั้ง หมดนี้คือสิ่งจำเป็นที่จะต้องตรวจเช็กให้เรียบร้อย อย่าปล่อยปละละเลยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เสียเงินซ่อมทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้หากหมั่นตรวจเช็กบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดความชำนาญ และมันก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่คุณสามารถทำได้ด้วยตนเอง