ยกระดับอาชีวะเกษตร"วษท.บุรีรัมย์"ต้นแบบบริหารจัดการดีเยี่ยม ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี(วษท.)บุรีรัมย์ และเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฎิบัติการเพื่อพัฒนางานธุรกิจการเกษตรในสถานศึกษา ซึ่งมี วษท. และวิทยาลัยประมง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 47 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมว่า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่มีความห่วงใยเรื่องการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรเนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศอุตสาหกรรม ดังนั้นวิทยาลัยเกษตร ของ สอศ.จะต้องมีแนวทางการยกระดับวิทยาลัยตัวเองให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไทยแลนด์ 4.0 โดยอนาคตวิทยาลัยเกษตรฯ จะต้องเป็นวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม เพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ซึ่งตนได้มอบแนวทางให้วิทยาลัยเกษตร ทุกแห่งกลับไปสร้างทีมงาน เน้นให้ผู้บริหารทำงานเชิงรุกสร้างจุดแข็งในการยกระดับคุณภาพวิทยาลัยให้ได้ เพราะหากเรามีผู้บริหารที่เข้มแข็งก็จะมีเด็กเข้ามาสมัครเรียนเองไม่ต้องตั้งรับอยู่กับที่ เช่น วษท.บุรีรัมย์ มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทางด้านเกษตรที่ทำได้ดี ดังนั้นจึงอยากให้วิทยาลัยอื่นๆนำไปเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการ "ผมไม่กังวลว่าจะต้องมีเด็กมาเรียนน้อย ผมกังวลแต่เรื่องบริหารวิทยาลัยมากกว่า เพราะผู้บริหารวิทยาลัยจะต้องมีเป้าหมายเชิงรุก จะต้องเป็นผู้นำไม่ใช่ตั้งรับอย่างเดียว จะต้องเข้าไปหาชุมชนด้วย" เลขาธิการ กอศ.กล่าวและว่า ดังนั้นปีนี้ สอศ.มีแผนการรับนักเรียนตั้งไว้ที่ 30% แต่ตนได้มอบนโยบายให้บวกเพิ่มขึ้นเป็น 50% ดังนั้นในปีการศึกษาหน้าจะต้องได้นักเรียนเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า100,000 คน นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร และรัฐบาลก็ให้งบประมาณกับการศึกษามากที่สุด จึงเป็นโจทย์ที่ผู้บริหารทุกคนจะต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้การศึกษาภาคการเกษตรกรรมมีความเข้มแข็ง สำหรับ จ.บุรีรัมย์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในรูปแบบเดิม แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตรแล้ว ดังนั้น วษท.ทั่วประเทศจึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร และผู้เรียนโดยไม่ทิ้งคุณภาพ สำหรับ จ.บุรีรัมย์ ตั้งเป้าว่าจะต้องก้าวไปสู่เกษตกรรม 4.0 ให้ได้