“นาข้าววิถีพอเพียง” โครงการเรียนรู้ผ่านสะเต็มศึกษากับการพัฒนาเกษตรชุมชน สู่โครงการ “One Class One Product” ของน้องๆ โรงเรียนวัดกู่คำ (เมธาวิสัยคณาทร) อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ที่ ซีพี ออลล์   ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ผนึกกำลังสนับสนุนโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนหรือ CONNEXT ED  เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกระดับการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง โดยโรงเรียนวัดกู่คำ ได้ดำเนินโครงการในรูปแบบ STEM ศึกษา นำจุดแข็งของชุมชน คือการทำการเกษตรผ่าน โครงการนาข้าววิถีพอเพียง มาต่อยอดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนสู่ โครงการ One Class One Product เพื่อให้แต่ละชั้นเรียนได้มีส่วนร่วมในการศึกษาปัญหาพร้อมทั้งหาทางแก้ไขและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากนาข้าว สร้างกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรวิทย์ ไชยสุ อาจารย์ประจำคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partners รุ่นที่ 1 ของซีพี ออลล์ เป็นคู่คิดริเริ่มการดำเนินโครงการร่วมกับผู้บริหาร คณะครู และชุมชน ผศ.ดร.กรวิทย์ ไชยสุ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรวิทย์ ไชยสุ  ในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partners  เล่าว่า ตัวเองเป็นชาวเชียงใหม่ จึงอาสาเข้าร่วมโครงการไปดูแลโรงเรียนในพื้นที่บ้านเกิด และได้รับผิดชอบในการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาแบบ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ ผอ.” ให้แก่ 3 โรงเรียน โดย 1 ใน 3 โรงเรียนที่รับผิดชอบ ถือว่าเป็น Best Practice หรือเป็นตัวอย่างของโรงเรียนที่ดำเนินโครงการแล้วประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลคือ โรงเรียนวัดกู่คำ (เมธาวิสัยคณาธร) อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่  โครงการที่ประสบความสำเร็จในโรงเรียนดังกล่าว ได้แก่ 1.โครงการนาข้าววิถีพอเพียง ให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติการปลูกข้าวในบริเวณนาข้าวที่อยู่ข้างๆ โรงเรียน พร้อมทั้งดึงปราชญ์ชาวบ้านและคนในชุมชนใกล้เคียงเข้ามามีส่วนร่วม 2.โครงการ One Class One Product โดยโครงการนี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละห้องนำสิ่งที่ได้รับจากโครงการแรกมาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้นวัตกรรมผ่านการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา (STEM) จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากนั้นก็นำไปขายที่ “กาดหมั้วคัวฮอม” โดยใช้พื้นที่ในโรงเรียนให้นักเรียนได้ทดลองขาย พร้อมทั้งเชิญชวนผู้ปกครองและคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้โครงการนี้ได้รับรางวัลในระดับเขตพื้นที่การศึกษา  การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือก่อนลงพื้นที่ ระหว่างลงพื้นที่ และหลังลงพื้นที่ โดยยึดหลัก PDCA คือ 1.Plan หรือ วางแผน 2.Do หรือ ปฏิบัติ 3.Check หรือตรวจสอบ และ 4.Act หรือดำเนินการให้เหมาะสมเพื่อให้การทำงานราบรื่น โครงการออกมาเป็นรูปธรรม ลงมือปฏิบัติได้จริง  และที่สำคัญคือโรงเรียนสามารถดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องการศึกษาต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.กรวิทย์ย้ำ     ทั้งนี้การดำเนินงานในระยะที่ 2 ผศ.ดร.กรวิทย์ จะทำหน้าที่เป็น Coaching หรือผู้ที่คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษาให้กับ School Partners รุ่นใหม่  ควบคู่กับการดูแลโรงเรียนเพิ่มเติมอีก  2 แห่งใน จ.ลำพูน โดยตั้งใจว่าจะพยายามเชื่อมโยงผู้บริหารและครูของโรงเรียนในทั้ง 2 ระยะเข้าหากัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  ประสิทธ์ ยิ่งสมัคร ด้าน นายประสิทธ์ ยิ่งสมัคร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดกู่คำ ผู้ร่วมริเริ่มโครงการฯ กล่าวว่า ขอบคุณทาง ซีพี ออลล์ ที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการของโรงเรียนวัดกู่คำ พร้อมส่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรวิทย์ ไชยสุ มาเป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียน และยังผลักดันให้เกิดโครงการต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น เลี้ยงปูนาพื้นเมือง, ผลิตภัณฑ์จากฟางข้าว, ข้าวเหนียวสมุนไพรหลากสี, แชมพูข้าวเหนียว, ข้าวแต๋นอนามัย เป็นต้น นอกจากที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้แล้ว ยังสามารถต่อยอดผลงานเพื่อสร้างรายได้ประกอบเป็นอาชีพหลัก หาเลี้ยงครอบครัว สร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนต่อไป ส่วน ด.ญ. รัชสิยาพร สังเวียนวรรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดกู่คำ (เมธาวิสัยคณาทร) เล่าว่า หลังจากที่มีโครงการโรงเรียนประชารัฐเข้ามา ทำให้ตัวเองและเพื่อนๆ ได้มีโอกาสฝึกทักษะอาชีพเพิ่มขึ้นหลายอย่างและสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตได้ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนก็ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนๆ ขอขอบคุณบริษัท ซีพี ออลล์ ที่ได้ให้โอกาส ให้ทุนสนับสนุนโครงการต่างๆ แก่โรงเรียนของเรา กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นถือได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรครู และนักเรียนให้สามารถบูรณาการสู่การเรียนการสอนเชิงรุก ผ่านกิจกรรมหรือโครงงานที่พบเห็นในชีวิตจริง เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นของเยาวชนในสังคมยุคใหม่