อาการปวดบริเวณใบหน้า หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงเพราะฟันผุหรือเหงือกอักเสบ แต่เมื่อรักษาอาการภายในช่องปากแล้ว กลับพบว่าอาการปวดใบหน้าไม่ได้หายตามไปด้วย หรือแท้ที่จริงแล้วอาจมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทคู่ที่ 5 ที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากใบหน้า ลิ้น ฟัน ปาก เหงือก และควบคุมกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการเคี้ยวอาหารถูกกดทับหรือเกิดจากปลอกประสาทเสื่อม โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ พญ.ปฏิมา วีณะสนธิ แพทย์ประสาทวิทยาอายุรศาสตร์ รพ.พระรามเก้าระบุ โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า ผู้ป่วยจะปวดที่ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งหรืออาจปวดบริเวณแก้ม เหงือกและฟันอย่างรุนแรง โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นเองอย่างฉับพลัน เป็นระยะสั้นๆ และเกิดซ้ำๆ ลักษณะการปวดแปล๊บคล้ายไฟฟ้าช็อต เจ็บปวดรุนแรงจนบางรายไม่สามารถสัมผัสใบหน้า เคี้ยวอาหาร และแปรงฟันได้ตามปกติ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก บางครั้งอาการปวดจะกระตุ้นให้มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อใบหน้า การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยสอบถามอาการจากผู้ป่วยและตรวจร่างกายร่วมด้วย ในกรณีผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนอื่น แต่ถ้ามีความผิดปกติในระบบประสาทส่วนอื่นแพทย์จะส่งตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง หรือ MRI และเมื่อตรวจพบอาการของโรคนี้แล้วแพทย์จะรักษาโดยใช้ยาคาร์บามาซีพีน (Carbamazepine) และอ็อกคาร์บาซีพีน (Oxcarbazepine) ที่ออกฤทธิ์ลดความไวของเส้นประสาท สามารถลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดทั้งชนิดที่เกิดขึ้นเอง และเมื่อถูกกระตุ้น แต่เมื่อหยุดกินยาผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดขึ้นมาอีกได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา หรือมีอาการรุนแรงเช่น มีเนื้องอกไปกดทับเส้นประสาท ต้องผ่าตัด ซึ่งจะทำให้มีโอกาสหายจากอาการปวดใบหน้าได้สูง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่รักษาโดยการให้ยาต้องหมั่นสังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอว่ามีความผิดปกติจากการแพ้ยาหรือไม่ ถ้าพบว่าแพ้ยาก็ควรหยุดยาทันทีแล้วรีบมาพบแพทย์ ทั้งไม่ควรเพิ่มขนาดยาเอง และหากพบว่าป่วยและต้องใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย หากผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวควรเข้ารับการรักษาหรือพบแพทย์ทันที หากปล่อยไว้อาการจะเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตได้ตามปกติ