ทีมไทยโชว์ผลงาน “ปลากัด” คว้าชนะเลิศในงาน “International Snow Sculpture ครั้งที่ 46” เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. กล่าวว่า ททท. ได้ส่งทีมแกะสสักหิมะไทย เข้าร่วมงาน งาน “International Snow Sculpture ครั้งที่ 46” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เทศกาลหิมะ “Sapporo Snow Festival ครั้งที่ 70” ณ เมืองซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เป็นงานเทศกาลหิมะที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งจากญี่ปุ่นและนานาประเทศเดินทางเข้าชมงานกว่า 2 ล้านคน ดังนั้น ทางททท. จึงได้พิจารณาส่งตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันฯ ดังกล่าว นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 22 เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย และเชิญชวนชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศให้เดินทางมาท่องเที่ยวไทย และในปีนี้ ประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยผู้ที่ได้รับรางวัล 3 อันดับแรกได้แก่ ตัวแทนจากประเทศไทย มาเก๊า และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามลำดับ โดยผลงานดังกล่าวจะจัดแสดงอยู่ที่ สวนสาธารณะโอโดริ ถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ ขณะที่ นายกฤษณะ แก้วธำรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. กล่าวต่อว่า จากปีที่ผ่าน ๆ มา ทีมจากประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ มาแล้ว 7 ครั้ง รวมถึงเคยสร้างสถิติชนะต่อเนื่องติดกัน 3 ปี (Grand Champion) ซึ่งไม่เคยมีตัวแทนทีมชาติใดทำได้มาก่อน สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยตลอดมา สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ ตัวแทนนักแกะสลักของประเทศไทยซึ่งประกอบด้วย นายกุศล บุญกอบส่งเสริม จากโรงแรมแชง-กรีล่า นายอำนวยศักดิ์ ศรีสุข จากโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ และนายกฤษณะ วงศ์เทศ นักแกะสลักอิสระ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน “ปลากัด (Betta Brilliance - The Beauty and Strength of Thailand)” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ปลากัดไทยมีเอกลักษณ์ทั้งด้านความสง่างามและความนุ่มนวล และอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนานกว่า 200 ปี เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับสายน้ำ โดยทีมนักแกะสลักได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างประณีตงดงาม แสดงทักษะและความเชี่ยวชาญในการแกะสลัก จนเป็นที่ชื่นชมของคณะกรรมการและนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมงานอย่างมาก ซึ่ง ททท. เชื่อมั่นว่า ผลงาน “ปลากัด” จะช่วยตอกย้ำถึงความสามารถเชิงช่างแกะสลักของคนไทยซึ่งถือเป็นระดับแนวหน้าของโลก สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ และส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเป็น 1.75 ล้านคน ก่อนจะมุ่งสู่เป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น 2 ล้านคน ในปี 2563 ได้อย่างแน่นอน