จากปัญหาวิกฤติฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และหลายพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างหวั่นวิตกถึงผลกระทบที่จะตามมา แต่จากการสำรวจถึงจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งระยะใกล้ และไกลกลับไม่มีการรายงานการยกเลิกการเดินทาง อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องนี้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ได้สะท้อนให้ฟังได้อย่างน่าสนใจ พร้อมเสนอแนะแนวทางในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ไม่มีการยกเลิกการเดินทาง ทั้งนี้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึง แนวทางการรับมือปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในด้านการท่องเที่ยว ว่า โดยภาพรวมของการรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ เช่นสำนักงานจากนิวยอร์ค และลอนดอน ถึงสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ยังไม่มีการรายงานการยกเลิกการเดินทางของนักท่องเที่ยวประเภทกลุ่มขนาดใหญ่ และสถานการณ์การจองตั๋วเครื่องบินยังอยู่ในสภาวะปกติ อีกทั้งนักท่องเที่ยวในตลาดดังกล่าว นิยมเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งไม่ประสบปัญหาฝุ่นควัน ซึ่ง สถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้น ไม่ใช่ของใหม่ เพราะในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกต่างเคยประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เช่น กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน มีปัญหามลพิษทางอากาศจากโรงงานและถ่านหิน ซึ่งรัฐบาลก็ออกแผนปฏิบัติการแก้ไขระดับชาติเรื่องการลดมลพิษทางอากาศ กรุงโซล เกาหลีใต้ มีปัญหาจากการใช้ถ่านหิน และน้ำมันดีเซล ซึ่งรัฐบาลก็ออกมาตรการมาแก้ปัญหา ในเรื่องจำกัดใช้รถยนต์รุ่นเก่า หรือใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น อีกทั้ง นายยุทธศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่า จากการเผยแพร่ข่าวปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีองค์กรที่เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูล จึงทำให้ข่าวสารที่ออกมาไม่ได้ไปในทิศทางเดียว อีกทั้งบางข่าวยังเป็นผลด้านลบต่อประเทศ ดังนั้นขอเสนอแนะให้มีองค์รที่ตั้งขึ้นมาเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจรับผิดชอบเผยแพร่ข่าวสาร เพื่อให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ คลี่คลายไปด้วยดี เช่น กรณีของหมูป่า เด็กติดถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นต้น "ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องของสถานการณ์ฝุ่นออกมาตลอด โดยเฉพาะสื่อโซเชียลเน็ต เวิร์กที่บางทีอาจไม่มีการกรองข้อมูล จึงทำให้เกิดการเข้าใจผิดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นในเวลานี้จึงน่าจะมีการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยการรวมศูนย์ข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เหมือนตอนเหตุการณ์หมูป่า ที่มีการตั้งโต๊ะแถลงมีการคุมข้อมูลที่ถูกต้อง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาให้ข้อมูล เช่น กรมควบคุมมลพิษ หรือกรมอนามัย ตั้งศูนย์กลางให้ข่าว ทั้งในเชิงของคุณภาพอากาศ และภัยที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการนำข่าวที่ไม่เป็นความจริงออกไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด บางครั้งอาจจะถูกเผยแพร่ออกไปในต่างประเทศยิ่งทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนทางข้อมูล ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวไปในที่สุด" นายยุทธศักดิ์ กล่าว อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ไม่กระทบด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นเป้าหมายการท่องเที่ยวในปี 2562 จึงยังคงตัวเลขเดิม สำหรับตลาดต่างประเทศด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 40.6 ล้านคน สร้างรายได้2.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 10% ส่วนตลาดภายในประเทศ เพิ่มขึ้น 10% ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 178 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ทำรายงานสถานการณ์ฝุ่น ด้าน นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ทาง ททท.ยังมอบหมายให้กองประชาสัมพันธ์ต่างประเทศจัดทำรายงานสถานการณ์ฝุ่นในแต่ละวัน และมาตรการการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของรัฐบาล ไปยัง สำนักงานททท.ในต่างประเทศ โดยทาง ททท.พร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลสั่งการ และสื่อสารไปยังนักท่องเที่ยวให้ทั่วถึง และกว้างขวางมากที่สุด พร้อมกันนี้ได้ขอความร่วมมือกับทางสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งในการลดฝุ่นพิษ โดยการตรวจสภาพเครื่องยนต์ และดับเครื่องทุกครั้งที่จอดรถนักท่องเที่ยว ทั้งในสนามบิน และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งทางสมาคมฯ ยังรับไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อยังสมาชิกของสมาคมฯ ให้ดำเนินการทันที ดำเนินมาตรการระยะเร่งด่วนอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดที่สุด เพื่อลดผลกระทบและแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 ควบคู่กับสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องฝุ่น PM 2.5 ให้อยู่บนข้อเท็จจริงและไม่บิดเบือนความจริงในสื่อสังคมออนไลน์ เอกชนระดมความร่วมมือ ขณะที่ช่วงที่ผ่านมา ทางภาคเอกชนระดมความร่วมมือ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองด้วยการฉีดพ่นละอองน้ำจากที่สูงในหลายๆ จุด ทั้งที่โรงแรมใบหยกสกาย ชั้น 85 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารจากศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นำเครื่องพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่นในอากาศมาติดตั้งบนดาดฟ้าตึกใบหยก เพื่อทดลองการใช้ลดฝุ่นในอากาศในรัศมี 50 เมตร จากตึกโรงแรมใบหยกสกาย ตามคำสั่งของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฉีดพ่นน้ำจากบนระเบียงชั้น 81 และดาดฟ้าชั้น 85 โรงแรมใบหยกสกาย ขณะที่ในพื้นที่เขตราชเทวี ได้รับความร่วมมือจากตึกสูง 8-9 อาคาร ติดตั้งเครื่องฉีดละอองน้ำ เบื้องต้นกำหนดเวลาฉีดละอองน้ำในชั่วโมงเร่งด่วนเวลา 06.00-09.00 น. และเวลา 15.00-19.00 น. ทำให้ภาพรวมอากาศในกรุงเทพฯ ช่วงเวลานี้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นตามลำดับ โดยค่าฝุ่น PM 2.5 ได้ลดลง ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เช่นเดียวกับโรงเรียนการบินกรุงเทพ ได้นำเครื่องบิน cessna 172 ขึ้นบินปล่อยละอองน้ำจำนวน 8 เที่ยวบิน เริ่มตั้งแต่ 08.00-13.00 น. บินโปรยละออง น้ำรอบๆพื้นที่แสมดำ ครอบคลุมพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร รวมถึงแนวถนนพระราม 2 โดยเป็นการบินโปรยละอองน้ำ เพื่อลดฝุ่นในอากาศเป็นวันสุดท้าย เนื่องจากกรุงเทพฯ ประเมินสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯตลอดช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ