สัปดาห์นี้ข่าวออกมาสับสนหนัก ขณะที่ชาวบ้านลุ้นหวังให้อีอีซีเกิด แต่เบื้องหลังการถ่ายทำ แหล่งข่าวในวงการรถไฟความเร็วสูงเผยมีความพยายามของคนบางกลุ่มหวังล้มการประมูล การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินผ่านการเปิดซองราคาจนมาถึงโค้งสุดท้าย เข้าสู่การเจรจาสัญญา ที่สำคัญธนาคารผู้ปล่อยเงินกู้จะเข้ามามีส่วนในการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งโดยปกติแล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำของโครงการที่มีความเสี่ยงสูง จะไม่ต่ำกว่า 8-10% ดังนั้นถ้าผลตอบแทนขั้นต่ำของโครงการ (IRR)น้อยกว่าดอกเบี้ยก็จะไม่น่าลงทุน เพราะไม่พอจ่ายดอกเบี้ย หรือพูดง่ายๆว่าขาดทุน โค้งสุดท้ายการเจรจาส่วนใหญ่จะเป็นเงื่อนไขที่ใช้ประกอบการตัดสินใจทางการเงิน เพื่อใช้สร้างความเชื่อมั่นให้แหล่งเงินทุนต่างประเทศที่ชวนมาลงทุนในประเทศไทยว่ารัฐบาลเอาจริง และกล้าปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการนี้ แต่อย่างไรก็ดีรถไฟขบวนนี้ท่าทางจะจบไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเริ่มจับสัญญานความพยายามสกัดดาวรุ่งของคนบางกลุ่มที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ซีพีอาจจะถอดใจ ทำให้เริ่มสงสัยจนต้องตั้งสมมุติฐาน 5ส จะจริงหรือไม่แล้วแต่ วิจารณญาน 1.สับสน: มีคนบางกลุ่มนำข้อมูลจากสื่อไปบิดเบือน โดยอ้างว่า รุมต้านการันตีกำไร 'ซีพี' หวั่น! รัฐเสียค่าโง่ไฮสปีด ทำเอาคนไทยงง เข้าใจผิดกันครึ่งประเทศ ทั้งนี้การทำโครงการใหญ่ๆจะมีการประเมินค่าผลตอบแทนขั้นต่ำโครงการหรือ IRR ซึ่งไม่ได้หมายถึงการันตีกำไร อธิบายง่ายๆว่า กู้เงินมาดอกเบี้ยเท่าไหร่ โครงการนี้มีผลตอบแทนได้มากกว่าดอกเบี้ยที่กู้มาทำหรือไม่ เช่นปัจจุบันดอกเบี้ย MLR ธนาคารคือ 6.25 ถ้าผลตอบแทนขั้นต่ำ เช่นในกรณีรถไฟความเร็วสูง ต่ำกว่า 6.25 แสดงว่าโครงการนี้ขาดทุน อย่าได้ลงมาทำ แต่การที่คนเข้าใจผิดว่าการันตีกำไร ทำให้เงื่อนไขนี้เดินต่อไม่ได้ กลายเป็นว่า โครงการนี้รัฐไม่รับรอง IRR แปลง่ายๆว่า เจ้งแน่?? 2.ส่งซิ๊ก:มีการส่งสัญญานออกมานอกห้องเจรจาตลอดเวลา ซึ่งผิดเงื่อนไขในทีโออาร์ที่ห้ามเปิดเผยข้อมูล หลังจากจบการเจรจา มีการนำข่าวออกมาผ่านสื่อ ทำให้การเจรจาไม่สามารถจบลงได้อย่างรวดเร็ว โดยเริ่มมีคนเอาสื่อไปอ้าง แล้วกลับมาตั้งคำถามรักษาการผู้ว่าการรถไฟว่า ข้อมูลรั่วออกมาจากห้องเจรจาได้อย่างไร ทำเอาผู้หวังดีหลายคนกลับมาตั้งคำถามรักษาการผู้ว่า ถึงการออกมาเปิดเผยข้อมูล ซึ่งถือว่าผิดเงื่อนไข และหากพูดควรพูดให้ละเอียด เพราะหากอธิบายไม่ครบจะยิ่งทำให้สังคมสับสน และส่งผลให้การเจรจาจบลงยากขึ้นไปอีก 3.ส่อเสียด:ขณะนี้การรถไฟฯไม่กล้าตัดสินใจบวกกับสถานการณ์การเมืองที่ขยับตัวลำบาก กลายเป็นเผือกร้อนว่า ใครจะกล้าเป็นคนตัดสินใจเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะหากจะเร่งรัดให้จบใน1เดือน ซึ่งในโลกโซเชียลมีคนบางกลุ่มได้นำบทความนี้ไปขยายผล ส่งแรงกดดันกลับไปที่การรถไฟฯอย่างเสียไม่ได้ ทำให้วันนี้อาจไม่มีใครกล้าตัดสินใจ แม้จะเป็นเงื่อนไขธรรมดาๆก็ตาม เพราะยิ่งใกล้เลือกตั้ง เหมือนรถไฟจะวิ่งไปตามเกียร์ว่าง มากกว่าแรงขับเคลื่อน 4.สอดแทรก:มีการบอกว่า บีทีเอส ยังมีลุ้น มีคนเอาบทความระบุว่า ผลการเจรจาระหว่างซีพีกับ รฟท ตกลงกันได้ในรอบหน้าก็จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งทั้งสองฝ่าย แต่หากไม่โอเค บีทีเอสเสียบทันที อันนี้ทำเอาหลายคนสับสน เพราะมีกลุ่มไม่หวังดีนำข่าวไปขยายว่า บีทีเอสยังเข้ามาเสียบได้อยู่หรือ เพราะจริงๆแล้วจะยกบีทีเอสมาเลยไม่ได้ ยกเว้นจะล้มประมูลแล้วประมูลใหม่ 5.ส่งเสริมบางกลุ่ม:ส่งเสริมทางเลือกใหม่ให้ล้มประมูล นำข้อมูลจากสื่อไปบิดแล้วสร้างกระแสทางเลือกมีการล้มประมูล แม้ข่าวลือหลายสำนักอยากดึงไปหลังเลือกตั้ง รอรัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่ งานนี้จึงต้องวัดใจซีพี ว่าจะไปถึงสถานีสุดท้ายได้หรือไม่ หรือจะถูกสับรางก่อนถึงเส้นชัย แต่ที่แน่ๆทุกสื่อล้วน”เอาใจช่วย” อีอีซี อย่างชัดเจน เพราะเป็นความเชื่อมั่นของไทยในสายตาชาวโลก แต่ต้องเอาใจช่วย ไม่ว่าใครจะชนะก็ไม่สำคัญ ขอเพียงประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอนาคตจริงๆซะที อย่าให้เป็นสายบัวรอเก้อ…จนถึงรถไฟเที่ยวสุดท้ายกันเลยนะเธอ