วันที่ 26 ก.ค.68 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ โพสต์คลิปผ่านเฟซบุ๊ก Panitan Wattanayagorn พร้อมระบุข้อความว่า...

คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ (United Nation Security Council - UNSC) จะยับยั้งสงครามกัมพูชา-ไทยได้หรือไม่และอย่างไร

1. UNSC เป็นองค์กรเดียวของสหประชาติที่ลงมติให้ใช้กำลังทหารระงับยับยั้งการสู้รบของประเทศสมาชิกได้ และได้ประชุมด่วนและลับ (Urgent Private meeting) เมื่อบ่ายของวันที่ 25 ก.ค.นี้ กรณีการสู้รบระหว่างกัมพูชาและไทย โดยระบุว่าเป็นประเด็น "ภัยคุกคามต่อเสรีภาพและความมั่นคงของนานาชาติ" (Threats to international peace and security)

2. UNSC ระบุว่ากัมพูชาทำหนังสือลงวันที่ 24 ก.ค.ร้องขอให้ UNSC เปิดประชุมโดยเร่งด่วน (Urgent meeting) ซึ่งทั้งกัมพูชาและไทยก็จะต้องเข้าประชุมตามข้อบังคับที่ 37 ของสมาชิกสหประชาชาติ

ครั้งสุดท้ายที่ UNSC ประชุมเรื่องไทยและกัมพูชานั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 เหตุเพราะมีการสู้รบกันในช่วงวันที่ 4 ถึง 7 ของเดือนนั้น ซึ่งกัมพูชาก็ได้ร้องขอให้ UNSC ประชุมด่วนเพื่อหยุดยั้ง "การรุกราน" (aggression) ของไทย แต่ฝ่ายไทยยืนยันว่าจะแก้ปัญหานี้ในกรอบข้อตกลงทวิภาคกที่มีอยู่แล้วกับกัมพูชา อินโดนีเซียประธานของอาเซียนในขณะนั้น ก็ได้ยืนยันว่าได้พบกับฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยแล้ว และอาเซียนก็สนับสนุนให้ทั้งสองประเทศไปแก้ปัญหากันในกรอบทวิภาคี

แต่สมาชิก UNSC ในปี 2554 โดยการนำของบราซิล ซึ่งเป็นประธานในขณะนั้น มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการปะทะกัน จึงได้มีมติ: 1) เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยุติการสู้รบ (ceasefire); 2) แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี; 3) สนับสนุนอินโดนีเซียให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย; และ 4) จะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและจะประชุมเพื่อกำหนดท่าทีหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น โดยจะส่งตัวแทนของ UNESCO เดินทางลงพื้นที่ปราสาทพระวิหารเพื่อสำรวจความเสียหายด้วย

3. บทบาทของ UNSC ในปี 2554 นั้น ถือว่ามีน้ำหนักเพราะสมาชิกมีเอกภาพและมีความตื่นตัวมาก เทียบกับก่อนหน้านั้นในเดือนก.ค. 2551 ที่ UNSC ก็ได้ประชุมด่วนตามการร้องขอของกัมพูชาเช่นกันเพราะเกิดความขัดแย้งกับไทย ในที่สุดในปี 2551 ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงที่จะกลับไปประชุม JBC เพื่อแก้ปัญหา และ UNSC ก็ไม่ได้มีมติที่ชัดเจนเพราะสมาชิกเห็นว่าเป็นการร้องขอฝ่ายเดียวของกัมพูชา เวียดนามซึ่งเป็นสมาชิกหมุนเวียนของ UNSC ในขณะนั้น ก็ได้โน้มน้าวสมาชิก UNSC ว่าควรจะให้ไทยและกัมพูชาแก้ปัญหากันในระดับทวิภาคีระหว่างสองประเทศเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากกรณีปี 2554 ที่มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สมาชิกของ UNSC สนใจที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้มากขึ้น

4. ในการประชุมครั้งล่าสุดของ UNSC ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปไม่กี่ชม.ที่ผ่านมา ยังไม่มีการให้ข่าวผลการประชุมอย่างเป็นทางการจาก UNSC เนื่องจากเป็นการประชุมลับ แต่ล่าสุดฝ่ายกัมพูชาได้ออกมาแถลงแล้วว่า ในที่ประชุมของ UNSC กัมพูชาได้เรียกร้องให้มีการหยุดยิงอย่างไม่เงื่อนไข (Unconditional ceasefire) และให้แก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี (Peaceful solution) ส่วนฝ่ายไทยก็ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงในที่ประชุมดังกล่าว โดยระบุให้กัมพูชายุติความเป็นศัตรู หยุดการทำที่ไม่เป็นมิตรที่คุกคามไทยและกลับมาพูดคุยกันอย่างจริงใจ (..immediate cease all hostilities and all aggreesion and resume dialogue in good faith)

หากการประชุม UNSC ในครั้งนี้ จะได้ยึดแนวทางเดิมแบบที่ผ่านมาเป็นหลัก ก็จะไม่มีปัญหาหรือสร้างความยุ่งยากให้กับไทย และอาจจะเป็นผลดีด้วยหากว่าจะได้มีการเน้นความสำคัญของอาเซียนในการ "ประสานงาน" และเน้นแก้ปัญหาระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นหลัก (แต่อาเซียนก็อ่อนแอลงมาก จากกรณีเมียนมาและอื่น ๆ และเป็นครั้งแรกที่สมาชิกของอาเซียนเข้าสู่สงครามกันเช่นนี้ ส่วนไทยและกัมพูชาก็ยังมีปัญหาภายในประเทศรุมเร้าหลายประการทำให้เป็นอุปสรรคในการเจรจาและแก้ไขปัญหา)

ในกรณีที่ UNSC มีแนวทางใหม่หรือเพิ่มเติม ก็คงจะต้องดูกันว่าจะเป็นประโยชน์กับไทยจริงหรือไม่ ไทยจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป และจะเป็นผลดีในการระงับยับยั้งความขัดแย้งในครั้งนี้หรือในอนาคตได้จริงหรือไม่ แต่การที่ประธาน UNSC ปัจจุบันซึ่งเป็นปากีสถานในเดือนนี้ บรรจุเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาไทย-กัมพูชาในองค์กรระดับสูงสุดของ UN ได้เป็นอย่างดี

5. สุดท้ายแล้ว ข้อสังเกตุที่สำคัญที่สุดก็คือ ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา UNSC ยังไม่สามารถระงับยับยั้งสงครามหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างไทยและกัมพูชาได้ โดยเฉพาะที่กัมพูชาได้ละเมิดอธิปไตยของไทย ไม่ทำตามกติกาสากลและไม่ทำตามข้อตกลงทวิภาคีที่ได้ตกลงไว้กับไทยหลายประการ นำมาซึ่งความเสียหายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างน่าเสียใจ

* รับชมรับฟังรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในคลิปนี้ครับ https://youtu.be/HU7N9al4jTQ?si=1xVg_RtbFUH2f9Gb และที่ website ของ UNSC

** ติดตามคลิปความเห็นที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้อีก 5 คลิปใน Comment ข้างล่างนี้ครับ