วันนี้วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ วัดพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ในพระวิหารมีพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) องค์ใหญ่ ปูนปั้นปิดทอง หน้าตักกว้าง 43 เมตร เป็นศิลปะสมัยอยุธยา บรรทมอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา เรียกว่า “สีหไสยาสน์” คือ ท่านอนแบบราชสีห์ บนแท่นสูง 1 เมตร ลืมพระเนตร ผินพระพักตร์สู่เบื้องทิศใต้ (ตำราพระพุทธไสยาสน์จะสร้างให้หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก พระเศียรพุ่งสู่ทิศใต้ และมีแม่น้ำอยู่ด้านหน้า) พระเศียรพุ่งตรงไปยังทิศตะวันตก ทอดพระวรกายเยียดยาวไปทางทิศตะวันออก พระกรขวาหงายพระหัตถ์ ตั้งรับประคองพระเศียรหนุนด้วยพระเขนยทรงกลมซ้อนกัน 3 ชั้น องค์พระครองจีวรห่มดอง สังฆาฏิซ้อนกันสองชั้นเฉลียงจากไหล่ซ้ายลงมากลางพระอุระจรดพระนาภี ขอบสบงทำแถบหนามีหน้านาง เดิมองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้งอยู่บนไหล่เขาด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระนครคีรี ส่วนฝาผนังวิหารพระนอนนั้นน่าจะมีอยู่ก่อนแล้ว เพราะในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่กล่าวว่า เมื่อครั้งที่ท่านมาเมืองเพชรบุรี (สมัยรัชกาลที่ 3) ได้มานมัสการพระนอนระบุว่ามีฝาผนังแล้ว ครั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำหลังคาสังกะสีคลุมองค์พระ ต่อในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำฝาผนังขึ้นใหม่แทนของเก่าที่ชำรุด องค์พระนอนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเมืองเพชรบุรีและใกล้ไกลเดินทางมานมัสการมิได้ขาด เกร็ดความรู้: ข้อมูลประวัติวัด, บูรพา โชติช่วง เรียบเรียง