วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาเตอร์ดได้เผยแพร่แถลงการณ์จุดยืนเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าโดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ธนาคารมุ่งมั่นส่งเสริมการปฎิบัติอย่างยั่งยืนในภาคพลังงานโดยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งโดยกลุ่มธนาคารแห่งนี้ได้ประกาศจุดยืนซึ่งไม่มีข้อบังคับทางกฎหมายและเป็นการสมัครใจ โดยระบุว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 สำหรับของพลังงานฟอสซิล(ถ่านหินและแก็ส)อ้างถึงการก่อสร้างและยกเลิกโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ธนาคารจะไม่ให้เงินกู้แก่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ รวมถึงการขยายของโรงไฟฟ้าด้วย โดยธนาคารคาดหวังว่าลูกค้าควรติดตามและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สาธารณะโดยใช้วิธีการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และหากเป็นไปได้ในกรณีที่เหมาะสมควรวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้า สำหรับพลังงานนิวเคลียร์ ธนาคารจะให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับนิวเคลียร์เพื่อสันติเท่านั้น และลูกค้าต้องแสดงให้เห็นถึงการปฎิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยนิวเคลียร์ระดับสากล (IAEA Safety Standards and Nuclear Safety Series) ตลอดจนจดหมายระดับประเทศนั้นๆ สำหรับพลังงานหมุนเวียน ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ธนาคารคาดหวังว่าลูกค้าจะปฎิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams, Framework for Decision Making) ตลอดจนข้อเสนอของกลุ่มธนาคารโลก (IFC Good Practive Note on Environmental, Health, and Safety Approaches for Hydropower Projects) อนึ่งข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก WCD มีหลักการสำคัญ 7 ข้อ อาทิ 1.การได้รับการยอมรับจากสาธารณะ การเปิดเผยข้อมูล Gainning Public Accpetance รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบและชนเผ่าพื้นเมือง ที่ต้องได้รับข้อมูลโครงการล่วงหน้าเพื่อประกอบการตัดสินใจ (FPIC) 2.การประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน Comprehensive Options Assessment และ 3.การแบ่งปันแม่น้ำเพื่อสันติภาพ การพัฒนา และความมั่นคง สำหรับกรณีแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายรัฐหรือหลายประเทศ ควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาความขับแย้งหรือปัญหาข้ามพรมแดน โดยองค์กรหรือสถาบันที่เป็นอิสระ เป็นต้น ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการรณรงค์ต่อธนาคารไทย ในกรณีการให้เงินกู้แก่โครงการข้ามพรมแดนในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ โครงการเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว หรือโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งต่อมาเขื่อนดินพังลงจนเป็นข่าวไปทั่วโลก ทางด้านสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี (RFA อาร์เอฟเอ) รายงานข่าวว่าเขื่อนไซยะบุรีทดลองปล่อยน้ำ โดยมีเนื้อหาว่าวันที่ 18 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่แผนพลังงานและเหมืองแร่ แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว กล่าวว่า การปล่อยน้ำของเขื่อนไซยะบุรี เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการทดลองการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ได้ทำให้ระดับแม่น้ำโขงขึ้น-ลงผิดปกติ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อน ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนไซยะบุรี คนหนึ่งกล่าวว่า การปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อนโดยที่ไม่แจ้งให้ชาวบ้านรู้ข้อมูลช่วงวันและเวลา จะทำให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดปรกติ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิติของเกษตรกร โดยเฉพาะชาวบ้านที่สัญจรทางน้ำ หากมีปริมาณน้ำมากก็ควรที่จะปล่อยจากเขื่อนเป็นช่วงเวลา การปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อนตอนเช้า เมื่อน้ำมันแห้ง ชาวบ้านอาจจะมีผลกระทบ เพราะบางครั้งเอาปศุสัตว์เช่นวัว ไปเลี้ยงที่สวนริมน้ำ แล้วน้ำโขงก็เพิ่มระดับขึ้น สำนักข่าวอาร์เอฟเอรายงานอีกว่าเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา สื่อไทยรายงานว่า ที่หนองคาย น้ำโขงสูงขึ้นผิดปกติที่ระดับ 5.70 เมตร จากเดิมเพียง 3 เมตร กระทบต่อประชาชนบ้านพร้าวเหนือ ที่เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำโขง ส่งผลให้ปลาตาย ส่วนสาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำโขงยังขึ้นผิดปกตินั้น เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย กล่าวต่อวิทยุเอเชียเสรี ในวันดังกล่าวว่าระดับน้ำดังกล่าว เป็นระดับน้ำปกติที่ไหลอยู่ในช่วงปัจจุบัน ตอนนี้น้ำที่ขึ้นมา 1-3 เมตร ก็อยู่ในช่วงปกติ หากเป็นช่วงวิกฤตจะต้องเพิ่มขึ้นอีกเป็น 10 เมตรจึงจะมีการเตือนภัย ตามรายงานข้อมูลอย่างเป็นทางการของลาว ระบุว่า หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรีมีทั้งหมด 15 หมู่บ้าน เช่น บ้านนาตอใหญ่ บ้านท่าเดื่อ บ้านปากไผ่ ส่วนบ้านที่เหลือยังไม่มีการเปิดเผยชื่อหมู่บ้าน ปัจจุบันโครงการเขื่อนไซยะบุรี ก่อสร้างสำเร็จแล้ว 100 % ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการกักเก็บน้ำตามมาตารฐานของเขื่อน เพื่อเตรียมการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้า ก่อนที่จะมีการเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพานิชย์ในปลายปี 2562 นี้ โดยส่งขายให้แก่ประเทศไทย