ผู้ว่าฯอ่างทอง ลงพื้นที่หารือแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์อุทกภัย ในเขตพื้นที่จังหวัดอ่างทอง
วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.30 น. นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง และคณะ ลงพื้นที่หารือแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์อุทกภัย ในเขตพื้นที่จังหวัดอ่างทอง โดย นายมนตรี เนียมรอด ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอ่างทอง พร้อมด้วย นายสุชาติ โพธิ์เจริญ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ร่วมกับ นายพิษณุ ช่วยเวช ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ในเขตพื้นที่ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก และตำบลตลาดหลวง อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
ตามที่กรมชลประทานได้คาดการณ์ปริมาณน้ำ 1 - 7 วันข้างหน้า โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,400 - 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาจะมีปริมาณ 100 - 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือ เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 1,500 - 1,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่ง ในอัตรา 400 - 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 700 - 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 - 0.80 เมตร ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยเริ่มส่งผลกระทบตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
สำหรับปัจจุบัน สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,170 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 15.46 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 10.06 เมตร/รทก. ระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 6.28 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยา มีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 755 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที